BEM ปลื้มหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนมูลค่า 6 พันลบ. ยอดจองล้น 4.7 เท่า

HoonSmart.com>> “ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน มูลค่า 6,000 ล้านบาท ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม จากนักลงทุนมากกว่า 4.7 เท่า หลังเปิดขาย 4 ชุด อายุ 3-10 ปี ดอกเบี้ย 1.56-3.33% ต่อปี

ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กล่าวว่า BEM ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนครั้งแรกของบริษัท และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากนักลงทุน อาทิ กลุ่มบริษัทประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนาคาร และสหกรณ์ ส่งผลให้การเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทในครั้งนี้มีจำนวนยอดจองซื้อมากกว่า 28,000 ล้านบาท หรือ มากกว่า 4.7 เท่า

BEM ได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ (Institutional Investors and/or High Net Worth Investors) มูลค่า 6,000 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นกู้ 4 ชุด ได้แก่ รุ่นอายุ 3 ปี 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ที่ 1.56% 2.24% 2.91% และ 3.33% ต่อปี ตามลำดับ และมีกำหนดการออกหุ้นกู้ในวันที่ 28 เม.ย.2564

ดร.สมบัติ กล่าวว่า ผลการตอบรับจากนักลงทุนที่ดีในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อธุรกิจและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของ BEM ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และภาวะตลาดที่ผันผวน รวมถึงสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในการสนับสนุนโครงการที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยความสำเร็จในการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในครั้งนี้ยังตอกย้ำพันธกิจของบริษัทในการส่งมอบการบริการคมนาคมขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และเพื่อให้บริษัทส่งมอบ เส้นทางแห่งความสุขเพื่อวิถีการเดินทางที่ดีกว่า

การออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกสำหรับบริษัทกลุ่มขนส่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้ไปใช้เพื่อชำระคืนหนี้เดิม และ/หรือ เงินลงทุน (Refinance) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน นอกจากนี้บริษัทได้จัดให้มีการสอบทานจากภายนอกสำหรับการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน โดยผู้ชำนาญการอิสระ (Second Party Opinion) DNV GL Business Assurance Australia Pty Ltd เพื่อทำการสอบทานและรับรองว่ากรอบหลักเกณฑ์การระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing Framework) ของบริษัท เป็นไปตามมาตรฐานสากล

หุ้นกู้แต่ละชุดได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ A- เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ซึ่งแสดงถึงสถานะการเงินและธุรกิจของบริษัทที่แข็งแกร่งและมั่นคง การเสนอขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในครั้งนี้มีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ และ ที่ปรึกษาด้านโครงสร้างหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ และรักษาการแทนประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า กรุงศรีในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายร่วมและที่ปรึกษาด้านโครงสร้างหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในครั้งนี้ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนสนับสนุนการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนครั้งแรกของ BEM โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ร่วมจัดโรดโชว์ ในรูปแบบออนไลน์เพื่อพบปะกับนักลงทุนสถาบัน ซึ่งได้รับความสนใจและการตอบรับเป็นอย่างสูง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและความแข็งแกร่งของ BEM ทั้งในด้านผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงิน

กรุงศรีมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและตอบโจทย์ให้กับลูกค้าธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการทำ ESG Financing มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยเครื่องมือด้านการระดมทุนต่างๆ รวมทั้งการออกหุ้นกู้ เราพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับ BEM เพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างคุณค่าให้กับสังคมต่อไป

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า BEM ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ภายใต้สถานการณ์การจองซื้อในช่วงระหว่างที่นักลงทุนสถาบันทำงานในลักษณะ WFH ของช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนกันเป็นอย่างดีระหว่าง BEM และกลุ่มผู้จัดการการจัดจำหน่าย รวมถึงการแสดงความสนใจจากนักลงทุนสถาบัน ด้วยยอดจองซื้อมากกว่า 4.7 เท่า

การออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนเป็นหุ้นกู้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนไปใช้สำหรับโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของธนาคารออมสินที่มุ่งเน้นการทำภารกิจด้านสังคม หรือ Social Bank เช่นเดียวกัน