บล.กสิกรฯ มองหุ้นไม่หลุด 1,500 จุด สัปดาห์นี้ให้แนวรับ 1,525 จุด

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยมองหุ้นมีโอกาสขึ้นไปสูงสุดที่ 1,585 จุด ขึ้นอยู่กับตัวแปร สถานการณ์โควิด-19 การกระจายวัคซีนต้าน กำไรบจ.ไตรมาส 1/64 ผลประชุมเฟด ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยให้กรอบ 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังจากอ่อนค่าลงปิดที่ 31.37 บาท 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองตลาดหุ้นสัปดาห์ถัดไป (26-30 เม.ย.) ดัชนีหลักทรัพย์มีแนวรับที่ 1,540 และ 1,525 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (27-28 เม.ย.) สถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนความคืบหน้าเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนต้านโควิด 19 ในประเทศ และผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2564 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การกระชุม BOJ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนี PMI เดือนเม.ย. ของจีน

หุ้นทยอยลดช่วงบวกหลังปรับขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,553.59 จุด เพิ่มขึ้น 0.30% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 90,019.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.37% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 5.74% มาปิดที่ 472.76 จุด

หุ้นดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารและการเงิน ที่ผลประกอบการไตรมาส 1/64 ออกมาค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี หุ้นแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนจะร่วงลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจล่าช้าออกไปอีก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิตลอดสัปดาห์

สำหรับค่าเงินบาทในสัปดาห์ถัดไป (26-30 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 สัปดาห์ที่ 31.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ระลอกสาม ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมในช่วงท้ายๆ สัปดาห์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อข้อเสนอแผนการปรับขึ้นภาษีของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด ซึ่งสะท้อนสัญญาณการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงานสหรัฐฯ

ในวันศุกร์ (23 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.37 เทียบกับระดับ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 เม.ย.)