PROEN หุ้นเมกะเทรนด์ วิ่งนำหน้าเทคโนโลยี หนุนกำไรไปไกล

HoonSmart.com>> บริษัท โปรเอ็น คอร์ป (PROEN) หุ้นเทคโนโลยีครบวงจร มีโอกาสเติบโตสูงมากในโลกดิจิทัล ด้วยกลยุทธ์ที่ยากจะลอกเลียนแบบ …..

 

PROEN เกิดขึ้นมา ด้วยคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง

“กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรเอ็น คอร์ป (PROEN) ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในปี 2540 เปิดท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์เพียง 1 เครื่องเท่านั้น ที่สยามสแควร์ จากการมองเห็นโอกาสจากอินเทอร์เน็ต “เวิลด์ไวด์เว็บ” กำลังจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาเปิดให้บริการเช็คอีเมล์ นาทีละ 5 บาท และหารายได้เพิ่มจากหลายช่องทาง อาทิ การดีไซน์เว็บไซต์ การจดโดเมน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก ก่อนที่จะเปิดสาขา 2 ที่ถนนสุรวงศ์ มีการต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ ขยายตัวเร็วมาก จนไม่สามารถอยู่ที่สาขาเดิมได้ ต้องเช่าพื้นที่ที่อาคาร กสท โทรคมนาคม บางรัก ตั้งเป็นศูนย์ Internet Data Center (IDC) เต็มรูปแบบและเป็นสำนักงานใหญ่

ปัจจุบัน บริษัทประกอบ 2 ธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ICT) 2. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเป็นผู้นำในธุรกิจ ICT จากการให้บริการ Internet Data Center (IDC) บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบครบวงจร (ISP) และบริการคลาวด์ (Cloud Service ) ที่ลูกค้าต้องการใช้งานรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว

การมองเห็นโอกาสจากวิกฤต และสถานการณ์ แล้วลงมือทำ จนประสบความสำเร็จ ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน

หัวใจอยู่ตรงที่ PROEN มีการติดตามเทคโนโลยีต่างประเทศอย่างใกล้ชิด สามารถคาดการณ์ “โอกาสเกิดล่วงหน้า” ได้ถูกต้อง พร้อมทดลองทำออกมาก่อนคู่แข่ง  นำเสนอบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพอนาคตชัดเจนขึ้น

มีสถานีวิทยุออนไลน์ รายแรกของไทย

“ผมชอบเรื่องเทคโนโลยี และมีการทดลองทำ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว เรียนมาทางด้านนี้ด้วย จบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สาขา Internet and E-Commerce Technology  เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมมองว่า Radio Online กำลังมา มีการทดลองเป็นรายแรกของประเทศไทย เว็บแคม (webcam) ทั้งกล้อง ภาพและเสียง VDO on Demand เป็นเทคโลยีใหม่ ลูกค้าเห็นศักภาพของบริษัท จนเกิดเป็น Blue Ocean ทำให้ธุรกิจโตก้าวกระโดด”

โตไปด้วยกันกับลูกค้า

ส่วนธุรกิจศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยง Internet Data Center ก็มีความต้องการสูง บริการของบริษัทแตกต่างกับ Data Center ทั่วไป เรามีการจัดเก็บรักษาข้อมูล พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และจำหน่ายอุปกรณ์ซอฟ์ทแวร์ เป็น Reseller เจ้าของผลิตภัณฑ์รายใหญ่ของโลก เช่น Dell สามารถซื้อของได้ภายใน 7 วัน รวมถึงการให้บริการอื่นๆ ได้แก่ ISP การรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย (DDoS) บริการคลาวด์

เราให้บริการกับธุรกิจและองค์กรครบวงจรแบบเช่าใช้ เป็นรายแรกในประเทศไทย และมีเครือข่ายเชื่อมโยงแบนด์วิดท์ภายในประเทศมากที่สุด รองรับได้ถึง 700 Gbps ให้บริการ Server 645 ตู้ โดยมีลูกค้าชั้นนำในกลุ่มธุรกิจ Streaming Content, Broadcast, Video Online และ Game Online ลูกค้าของบริษัทเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง สถาบันการเงิน โรงพยาบาล เช่น  บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เชื่อมข้อมูลรถพยาบาล กับโรงพยาบาลกรุงเทพ 7-Eleven , Shopee ธุรกิจบันเทิง บริษัทเกมส์ การีนา ประเทศไทย “การีนา ออนไลน์ ” แพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์รวมเกม เข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ  ก่อนจะพัฒนาแอปพลิเคชั่นชำระเงิน Airpay บริษัทแม่ที่สิงคโปร์ เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ค มูลค่าหลายแสนล้านบาท

IDC มีคุณสมบัติเทียบเท่า TIER 3  มีทีมวิศวกรพร้อมบริการด้านเทคนิคตลอด 24 ชั่วโมง บริการอินเทอร์เน็ต ผ่าน Fiber Optic ความเร็ว 1 Mbps ถึง 100 Gbps โดยลูกค้าเสียค่าบริการเป็นรายเดือน ไม่ต้องลงทุนด้านอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายด้านดูแลรักษา มีทีมงานดูแลทั้งระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน ระบบมีการใช้งานง่ายและดีกว่า ข้อมูลไม่หาย ค่าใช้จ่ายถูกลงประมาณ 20-30% ตอนนี้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าใหม่มากขึ้น เช่น เดิมเคยจ่ายเดือนละ 4-5 แสนบาท ก็ลดลงมาเหลือ 3 แสนบาท เพราะฟรีค่าวางระบบ และไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม

จุดเด่น อยู่ที่ความเท่าเทียม

แบนด์วิดท์ที่มีอยู่ บริษัทดูแลการใช้งานไว้ไม่เกิน 70% เพื่อรองรับกับความต้องการเร่งด่วน หรือตามโครงการที่ต้องการใช้แบนด์วิดท์สูงๆ  ซึ่งอาจจะสร้างรายได้ได้ถึง 3 แสนบาท/ครั้ง จากการใช้งานปกติ ขายตู้ละ 3.5-4 หมื่นบาท  ซึ่งลูกค้าแต่ละรายจองเวลาการใช้ช่วงพีคต่างกัน เช่น สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 มาใช้ 200 Gbps ในช่วงถ่ายทอดฟุตบอล หรือ Shopee 4.4 โปรฯแรง 4 เมษายน มีคนเข้ามาใช้มากถึง  10 ล้านคน โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

“ธุรกิจรับฝากข้อมูลของบริษัทได้รับความนิยม เพราะจุดเด่นเรื่องความเป็นกลาง (Nature) ให้ความเท่าเทียมในการให้บริการแก่ลูกค้าทุกระดับ และเก็บรักษา เราให้บริการมานาน  เปิดให้บริการแบบเช่าใช้ผ่านคลาวด์เป็นรายแรกของไทย รองรับธุรกิจในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพของระบบเครือข่ายให้สามารถรับส่งข้อมูลระหว่างสาขาจำนวนมากให้เร็วขึ้น และการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ปี’63 มีกำไร 25.3 ล้านบาท พุ่งขึ้น 52%

ในปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 25.3 ล้านบาท เติบโตถึง 52% เทียบกับปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิเพียง 16.6 ล้านบาท เพราะธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐานต้องตั้งสำรอง และมีการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ ขณะที่มีรายได้รวมแตะ 1,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 14% จากปีก่อนหน้าที่จำนวน 884.2 ล้านบาท แม้ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก็ตาม

นอกจากนี้กำไรที่ดีขึ้นมาจากอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาฯเพิ่มขึ้นเป็น 13.7% เนื่องจากสามารถควบคุมต้นทุนการก่อสร้างได้ดีขึ้น และมีการชำระคืนเงินกู้ยืม 24.6 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่กู้ยืมเพิ่มตามการขยายตัวของงานรับเหมาฯ

บริการคลาวด์เป็น New S-curve

ส่วนแนวโน้มในปี 2564 จะมีโอกาสเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากธุรกิจ ICT และรับเหมาก่อสร้าง โดยคาดหวังบริการคลาวด์ เป็น New S-curve ที่จะโฟกัสในช่วง 3-5 ปี สร้างรายได้เข้ามาต่อเนื่อง (recurring income) เพิ่มขึ้นเป็น 50% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 30%

ขณะที่ธุรกิจ IDC ก็ยังมีโอกาสที่ดีมาก เนื่องจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โควิด-19 ที่แพร่ระบาด ทำให้ทำงานที่บ้าน มีการใช้ออนไลน์มากขึ้น ส่วนธุรกิจก็อยู่ระหว่างการก้าวสู่ดิจิทัล ก้าวผ่านการใช้กระดาษ มาทำงานบนระบบ ทุกบริษัทมีแอพพลิเคชั่นเป็นของตัวเอง มีการใช้ Data Center เก็บข้อมูล ขณะเดียวกันประเทศสิงคโปร์ในฐานะผู้นำด้าน Data Center แต่ไม่สามารถขยายได้มากนัก เพราะพลังงานมีไม่เพียงพอ ทำให้บริษัทข้ามชาติ หันมาใช้ประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

ด้านบริษัทการ์ทเนอร์คาดการณ์มูลค่าตลาดของธุรกิจ Data Center ในประเทศไทยว่า ในปี 2546 จะมีมูลค่า 25,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,967 ล้านบาทหรือเติบโต 24% จากปีที่ผ่านมาที่คาดว่าจะมีมูลค่า 20,330 ล้านบาท ลดลงจากปี2562 ที่มีมูลค่า 24,775 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด

“การ์ทเนอร์คาดปี 2564 เติบโตเนื่องจาก Data Center มีแนวโน้มถูกปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีแบบ Clould ในการจัดเก็บข้อมูลมากขึ้น และเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อยอดโดยใช้ซอฟท์แวร์เข้ามาจัดการการเก็บข้อมูล โดยธุรกิจของบริษัทได้รับผลเชิงบวกจากโควิด ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันผ่านออนไลน์มากขึ้น”

ธุรกิจรับเหมาฯ ดี หนุนโต 3 ปี 

ธุรกิจรับเหมาฯ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ใช้กลยุทธ์มีพันธมิตรและคู่ค้าที่ดีในการเข้าประมูลงาน รวมถึงประสบการณ์ในการรับงานนำสายไฟลงดิน หนุนการเติบโตในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีโครงการที่รอส่งมอบ (Backlog) รวมทั้งหมดประมาณ 334 ล้านบาท จะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ เช่น งานก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนศรีอยุธยาและถนนพระราม 3 มูลค่า 125 ล้านบาท

บริษัทมีโครงสร้างรายได้มีความสมดุลมากขึ้น คือมีรายได้จากการขาย จากการให้บริการและสัญญาก่อสร้าง สัดส่วนประมาณ 30%  จากที่ผ่านมาพึ่งพารายได้จาก ICT เกือบทั้งหมด

พร้อมขาย IPO จำนวน 86 ล้านหุ้น  

ปัจจุบันบริษัทมีความพร้อมที่จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 86 ล้านหุ้นคิดเป็น 27.2% ของทุนเรียกชำระแล้ว พาร์หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ภายในไตรมาส 2/2564 โดยจะใช้เงินประมาณ 150 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารศูนย์ข้อมูล และสำนักงานแห่งใหม่ สามารถรองรับตู้ Server ได้จำนวน 1,000 ตู้ คาดเริ่มเปิดให้บริการในปี 2565

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะไม่ลงทุนพร้อมกันทั้งหมด จะทยอยลงทุนตามความต้องการซื้อของลูกค้า เพื่อลดต้นทุนการเงินและลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเสื่อมราคา นอกจากนี้ อาคารศูนย์ข้อมูล ยังได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา ทำให้รายได้ดีขึ้น และอัตรากำไรเพิ่มขึ้นด้วย

นักลงทุนพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนใน PROEN แล้วหรือยัง เพื่อเติบโตไปด้วยกัน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าฟังการโรดโชว์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้ที่ Facebook Live : www.facebook.com/@Proeninternet ในวันที่ 19 เมย.2564 เวลา 12.00 – 13.00 น.