HoonSmart.com>> ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ และบริการดูแลและเก็บรักษาตราสารหนี้ เพื่อรองรับการให้บริการผู้ลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตราสารหนี้ไทยที่มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. ตามประกาศ BIR ระยะที่ 1 ของ ธปท. ภายใต้โครงการ Bond Investor Registration (BIR) ซึ่งเป็นไปตามแผนความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. และ ธปท.
ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ในการประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์ตามแผนความร่วมมือในโครงการ Bond Investor Registration ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ ธปท. มีข้อมูลสำหรับติดตามพฤติกรรมของผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ (market surveillance) ในเชิงลึกที่ถูกต้อง ครบถ้วน รวดเร็ว และสามารถนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินได้อย่างตรงจุดทันการณ์
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ โดยจะกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ตรวจสอบว่า ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Ultimate beneficiary owner : UBO) ได้ลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. แล้ว ก่อนที่จะให้บริการซื้อขายตราสารหนี้ เป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมในกระบวนการทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Client : KYC) ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ (Non-resident) เพื่อให้ทราบผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการดูแลและเก็บรักษาตราสารหนี้ (local custodian) ต้องดำเนินการเพื่อให้ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์แบบแยกแต่ละราย และได้มีการลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. หรือดำเนินการอื่นใดแล้วเพื่อให้ ธปท. รับทราบข้อมูลการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง
ทั้งนี้ เมื่อ ก.ล.ต. จัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวตามมติ ก.ต.ท. เรียบร้อยแล้วจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไป โดยคาดว่าจะมีผลใช้บังคับพร้อมกับ ธปท. ในวันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้การรับมอบหรือส่งมอบตราสารหนี้ของผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต้องทำผ่านบัญชีฝากหลักทรัพย์ที่ได้ลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. แล้วเท่านั้น