๐ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ทั่วโลกกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 32.89% และ 13.84% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ ประกอบกับแผนการลงทุนระยะยาวของสหรัฐฯ ด้วยวงเงินประมาณ 3-4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักด้วยวงเงิน 2.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งจะเปิดเผยแผนลงทุนระยะยาวก้อนที่สอง American Family Plan วงเงินราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือน เม.ย. ซึ่งจะเน้นการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีโอกาสฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจาก Bond Yield ระยะยาวที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
๐ ตัวเลขดัชนี Composite PMI เดือน มี.ค. ของประเทศหลักส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีรวมของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม +7.9 จุด เป็น 63.8 จุด จากภาคบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก +8.4 จุด เป็น 63.7 จุด เนื่องจากแรงหนุนด้านการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ส่วนตัวเลขดัชนีรวมของยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก +4.4 จุด เป็น ระดับที่ 53.2 จุด ซึ่งกลับเข้าสู่เกณฑ์ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน รวมถึงดัชนีรวมของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก +1.4 จุด เป็นระดับ 53.1 ตามภาคบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นระดับที่ 54.3 จุด ขณะเดียวกันดัชนีรวมญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น +1.7 จุด เป็น 49.9 จุด จากการผ่อนคลายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
๐ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นถึง 9.16 แสนตำแหน่ง ซึ่งสูงสุดในรอบ 7 เดือนและสูงกว่าที่ตลาดคาดอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นในหมวดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 ได้แก่ การโรงแรมและพักผ่อน การจ้างงานภาคการศึกษาและค้าปลีก ขณะที่อัตราการว่างงานปรับลดลงเป็น 6.0%
๐ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ขึ้น โดย IMF ปรับการคาดการณ์เพิ่มขึ้น +0.5% จากประมาณการครั้งก่อนในเดือน ม.ค. ที่ 5.5% เป็น 6.0% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ และการแจกจ่ายวัคซีนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ IMF ยังระบุว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะกลางจากวิกฤตครั้งนี้ไม่รุนแรงเท่าวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 10 ปีก่อน
๐ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลง โดยตัวเลขปรับตัวลดลงจาก 49.4 เป็น 48.5 จุด จากการที่การแพร่ระบาดของไวรัสที่ยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนและภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง อีกทั้งยังมีการระบาดเพิ่มเติมอีกระลอกในช่วงต้นเม.ย. อาจจะเป็นปัจจัยกดดันตัวเลขเศรษฐกิจในระยะถัดไป
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดตราสารทุน
หุ้นไทย : ปรับคำแนะนำจาก “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” เป็น “คงน้ำหนักการลงทุน”
หุ้นเกาหลี : ปรับคำแนะนำจาก “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” เป็น “คงน้ำหนักการลงทุน”
หุ้นจีน : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีน A-Shares และหุ้นจีน H-Shares
หุ้นยุโรป : แนะนำ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน”
หุ้นสหรัฐฯ : ปรับคำแนะนำจาก “คงน้ำหนักการลงทุน” เป็น “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน”
หุ้นญี่ปุ่น : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน
ตลาดตราสารหนี้
ตราสารหนี้ไทย : แนะนำคงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น
ตราสารหนี้ต่างประเทศ : แนะนำลงทุนใน SCBFIN และ SCBUSHY
สินทรัพย์ทางเลือก
ทองคำ : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
น้ำมัน : แนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน”
อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน : แนะนำ “เพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน SCBPIN”