NPPG เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ จับมือกลุ่มซีพีจีน บุกธุรกิจร้านอาหารทะเลแบรนด์ดัง “แหลมเจริญซีฟู้ด” และซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” เจ้าเดียวในไทย ลุยขยาย 100 สาขา ตั้งเป้าโกยรายได้ 1,500 ล้านบาท “ศุภจักร” กางแผนธุรกิจ 5 ปี ดันสัดส่วนรายได้ธุรกิจอาหารเพิ่มเป็น 80%
นายศุภจักร ไตรรัตโนภาส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) (NPPG) เปิดเผยว่าภายใต้แผน “Next NPPG Transformation” บริษัทตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปีจากนี้ไป สัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารและภัตตาคารจะเพิ่มเป็น 80% ของรายได้รวม ขณะที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์จะลดลงเหลือ 20% จากปัจจุบันที่สัดส่วนรายได้ของธุรกิจอาหารและธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ 50 ต่อ 50
ทั้งนี้ ในปี 2560 รายได้รวมของ NPPG อยู่ที่ 1,199.60 ล้านบาท มีผลขาดทุน 367.67 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกของปี 2561 บริษัทมีรายได้รวม 291.28 ล้านบาท มีผลขาดทุน 45.92 ล้านบาท
“ตอนนี้รายได้จากธุรกิจอาหารคิดเป็นสัดส่วน 50% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจแพ็คเกจจิ้งมีสัดส่วนเท่ากัน คือ 50% แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอาหารจะเพิ่มเป็น 80% ในขณะที่ธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง เราจะนำไปควบรวมกับเจ้าใหญ่ โดยอยู่ระหว่างการเจรจา 1-2 ราย ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ส่วนวิธีการควบรวมนั้น เบื้องต้นเราจะใช้วิธีให้เขาเข้ามาถือหุ้นในบริษัทที่ทำแพ็คเกจจิ้ง ทั้งนี้ จะมีการแถลงอีกครั้งว่าโครงสร้างธุรกิจส่วนนี้จะเป็นอย่างไร” นายศุภจักรกล่าว
สำหรับแผนขยายการลงทุนในธุรกิจอาหารนั้น นายศุภจักร ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา NPPG เซ็นสัญญาเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ (Master Franchise) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม “ดีน แอนด์ เดลูก้า (Dean & DeLuca)” ในประเทศไทย กับบริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) โดยสัญญามาสเตอร์แฟรนไชส์ดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี และต่อสัญญาอัตโนมัติอีก 5 ปี รวมเป็น 10 ปี
ส่วนแผนลงทุนธุรกิจร้าน “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ทาง NPPG ตั้งเป้าจะลงทุนขยายร้านดีนแอนด์เดลูก้าอีก 100 สาขาภายในช่วง 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านในลักษณะคาเฟ่ (Cafe) ส่วนที่เหลือจะเป็นลักษณะภัตตาคาร (Restaurant) และลักษณะที่เป็นตลาด (Market) โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 5-8 ล้านบาทต่อสาขา หรือประมาณ 500-800 ล้านบาท พร้อมกันนั้น NPPG จะเข้าไปรับช่วงต่อการบริหารร้านดีน แอนด์ เดลูก้าในไทยที่ในปัจจุบันมีอยู่ 12 สาขา รายได้ปีละ 500 ล้านบาท
“เราตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี บริษัทจะมีรายได้จากร้านดีน แอนด์ เดลูก้าประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนเงินที่นำมาลงทุนขยายสาขานั้น NPPG จะลงทุนร้านสาขาด้วยตัวเอง 20% ส่วนที่เหลืออีก 80% จะเป็นการให้แฟรนไชส์ซี (Franchisee) กับพันธมิตรรายอื่น ๆ ทำให้การลงทุนดังกล่าวจะใช้เงินไม่มาก” นายศุภจักรกล่าว
ด้านแผนการลงทุนธุรกิจร้านอาหารในจีนนั้น NPPG ได้ร่วมกับ Kinghill Overseas Holdings ซึ่งเป็นพันธมิตรและเป็นบริษัทในกลุ่มซีพี ที่ทำธุรกิจช้อปปิ้งมอลล์ในจีน จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ “Kinghill food” โดย NPPG ถือหุ้น 49% และ Kinghill Overseas Holdings ถือหุ้น 51% ขณะเดียวกัน Kinghill food จะร่วมกับ “แหลมเจริญ ซีฟู้ด” จัดตั้งบริษัทร่วมทุนอีก 1 แห่งที่ฮ่องกง เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารทะเลในจีน โดย Kinghill food จะถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวในสัดส่วน 80% และแหลมเจริญ ซีฟู้ดถือหุ้น 20%
“ภายในปีนี้เราจะเริ่มธุรกิจร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ดในจีน 1 แห่ง คือ ที่เซี่ยงไฮ้ โดยจะเป็นสาขาแฟลกชิป และถ้ามีสัญญาณตอบรับที่ดีอาจลงทุนเพิ่มเป็น 2-3 แห่งก็ได้ จากนั้นจะลงทุนอีก 15-20 สาขาต่อปี ดังนั้น ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า เราจะมีร้านอาหารทะเลในจีน 50-60 สาขา กระจายอยู่ในเมืองต่างๆ เช่น ปักกิ่ง เฉิงตู ฉงชิ่ง และเซินเจิ้น เป็นต้น ซึ่งบางพื้นที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นภัตตาคารขนาดใหญ่ แต่จะลงทุนในลักษณะร้าน Express เพราะใช้เงินลงทุนไม่มาก” นายศุภจักรระบุ
นายศุภจักร กล่าวว่า ในส่วนการลงทุนร้านแฟรนไชส์อื่นๆในประเทศไทยนั้น ในปีนี้บริษัทมีแผนลงทุนร้านแฟรนไชส์ A&W เพิ่มอีก 15-20 สาขา จากปัจจุบันที่มี 32 สาขา แต่ละสาขาใช้เงินประมาณ 5 ล้านบาท และภายใน 5 ปีตั้งเป้าเพิ่มร้าน A&W เป็น 100 สาขา ส่วนการลงทุนขยายแฟรนไชส์ร้าน Miyabi ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านอาหารของ NPPG เอง และร้าน Mr.Jones นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรีแบรนด์ดิ้ง เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะลงทุนขยายสาขาต่อไป
“ภายใน 3-5 ปีเรามีแผนลงทุนร้านอาหารในเครือ NPPG ทั้งในและต่างประเทศ 2,000-5,000 แห่ง เป็นร้านสาขาในไทย 30-40% และเป็นร้านสาขาในจีน รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 60-70% ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีแบรนด์ร้านอาหารในมือ 4-5 แบรนด์ และมีแผนจะซื้อแบรนด์เพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์ แต่ละแบรนด์จะมีสาขาไม่น้อยกว่า 50 สาขา ส่วนเงินที่ใช้ในการลงทุนระยะแรกนั้น จะมาจากเงินสดที่บริษัทมีอยู่ และเงินที่ได้จากการแปลงวอร์แรนต์” นายศุภจักรกล่าว
นายศุภจักร ยังกล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่เติบโตได้เร็ว และมีกำไรค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น ร้านสุกี้ MK และร้านอาหารในกลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด เป็นต้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกันแล้วโมเดลการรุกเข้าไปในธุรกิจร้านอาหารรูปแบบใหม่ของ NPPG จะมีลักษณะเดียวกันกลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด คือ มีแบรนด์ที่เป็นที่นิยมหลากหลายแบรนด์และบุกเข้าไปในแต่ละตลาดพร้อม ๆ กัน รวมทั้งมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง
นายศุภจักร กล่าวว่า สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้ามีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่มีอยู่เดิม 15-20% จากปีที่แล้วที่มีรายได้รวม 1,199.60 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจร้านอาหาร “ดีน แอนด์ เดลูก้า” และร้านอาหารทะเลในจีนจะสร้างรายได้เข้ามาภายในปีนี้ โดยมั่นใจว่าผลประกอบการของ NPPG ในปีนี้จะพลิกกลับมาทำกำไร
นายธีระ วายากรณ์วิจิตร ผู้บริหารบริษัท PACE ซึ่งถือสิทธิ์แฟรนไชส์ร้าน “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ผ่านบริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) กล่าวว่า เฉพาะในประเทศไทยมีร้าน ดีน แอนด์ เดลูก้า ทั้ง 3 รูปแบบรวมทั้งสิ้น 12 สาขา และมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี