THCOM ทะยานเช้านี้กว่า 4% กำไรไตรมาส 2 ดีเกินคาด ฟิลลิป เพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 9.10 บาท เคจีไอห่วงการโตระยะยาว อุปสรรคเยอะใน 1-3 ปีข้างหน้า
บริษัทไทยคม (THCOM) ปรับตัวขึ้นโดดเด่นในการซื้อขายหุ้นภาคเช้าวันที่ 2 ส.ค. ราคาพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 9.15 บาท ก่อนย่อมาซื้อขายบริเวณ 8.70 บาท บวก 0.40 บาทหรือ 4.82%
ราคาหุ้น THCOM วันนี้ (2 ส.ค.) ปิดที่ 8.75 บาท บวก 0.45 บาท หรือเพิ่มขึ้น 5.42% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 112.56 ล้านบาท
บล.ฟิลลิป เพิ่มคำแนะนำจากขายเป็น “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น THCOM ให้ราคาเป้าหมาย 9.10 บาท จากเดิมให้ราคา 8.40 บาท หลังประกาศกำไรดีกว่าคาดไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 251 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 86.5% จากไตรมาส 1
ถ้าหากตัดรายการที่เกี่ยวข้องกับ CSL พบว่ากำไรดีขึ้น 34.3% และพลิกจากไตรมาส 1 ที่ขาดทุนสุทธิ 98 ล้านบาท แม้ว่ารายได้รวมลดลงก็ตาม โดยมีค่าเสื่อมที่ลดลงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ในไตรมาส 4/2560 และหลักๆจากการคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดีขึ้น
ไตรมาสก่อนมีรายจ่ายพิเศษเกี่ยวกับค่าเสียหายอุปกรณ์ชำรุด และการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
“แม้ว่าจะกังวลต่อแนวโน้มผลประกอบการระยะยาวจากความไม่แน่นอนของธุรกิจดาวเทียม Broadband และการแข่งขันในธุรกิจ Broadcast แต่มองว่าราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยลบไปแล้ว และคาดผลดำเนินงานจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากลูกค้ารายใหม่ทยอยเข้าใช้งานเพิ่ม อาทิ อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ ปรับกำไรปี 2561 เป็น 342 ล้านบาท ไม่รวมรายการพิเศษ “บล.ฟิลลิประบุฯ
ทางด้านบล.เคจีไอ(ประเทศไทย)คงคำแนะนำขาย และให้ราคาเป้าหมายที่ 9.75 บาท ถึงแม้ผลประกอบการจะดีขึ้นในระยะสั้น แต่อุปสรรคในระยะยาวยังรออยู่ข้างหน้า เนื่องจากมีอุปสรรครออยู่ในอีก 1-3 ปีข้างหน้าจากการแข่งขันที่รุนแรง และความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของทางการ
“THCOM รายงานกำไรสุทธิ สูงกว่าประมาณการของเรา 175% และสูงกว่าที่ตลาดคาดถึง 259% “บล.เคจีไอระบุ
บล.เคจีไอ คงประมาณการกำไรปี 2561-2562 เอาไว้เท่าเดิม 1,900 ล้านบาท และ 53 ล้านบาท แม้ว่า กำไรสุทธิในครึ่งปีแรกสูงกว่าประมาณการกำไรปีนี้ทั้งปีของเราถึง 12% แต่การที่กำไรจะโตต่อได้ในครึ่งปีหลังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมในไทย และการแข่งขันที่รุนแรงในภูมิภาค คาดว่าจะกดดันการเติบโตของรายได้ ในขณะที่การหาลูกค้าใหม่หรือต่อสัญญากับลูกค้าเดิมก็จะได้มาร์จิ้นต่ำลง
นอกจากนี้บริษัทยังไม่มีแผนเตรียมยิงดาวเทียมใหม่เพิ่มอีกหลังจากที่ดาวเทียมไทยคม 4, ไทยคม 5 และไทยคม 6 หมดสัมปทานในปี 2564 เนื่องจากบริษัทยังไม่มีข้อสรุปร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทาน และเจ้าของวงโคจรของประเทศ