HoonSmart.com>>ธนาคาร แตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดเศรษฐกิจปี 64 ไตรมาสแรกติดลบต่อ ไตรมาส 2 ตีกลับบวกได้ จากฐานที่ต่ำมากปีก่อน รวมทั้งปีอย่างเก่งโต 2.4% ขอไม่คาดการณ์จุดต่ำสุด จากความไม่แน่นอนหลายปัจจัย ธปท.ส่งสัญญาณมีโอกาสติดลบ ดอกเบี้ยไทยต่ำ 0.5% ยาวถึงปี 66 สวนทางโลกกำลังปรับขึ้น จี้ใช้นโยบายการคลัง เร่งฉีดวัคซีน อัดเงินกระตุ้นตรงจุด ไทยเผชิญ 3 ขาดดุล กดดันเงินบาทอ่อนค่าเร็ว 31.45 บาท คาดครึ่งปีหลังแข็งยืน 31 บาท
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด “อัพเดทเศรษฐกิจไตรมาส 2″ ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ไตรมาส 4/2563 ติดลบ 4% และคาดว่ายังคงติดลบต่อเนื่องในไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนไตรมาส 2 จะกลับมาเป็นบวก เพราะเทียบจากฐานที่ต่ำมากในปีที่แล้ว โดยรวมทั้งปี 2564 เติบโต 2.4% แต่ไม่ขอคาดการณ์ระดับต่ำที่สุด หลังจากธปท.ส่งสัญญาณว่าอาจจะติดลบได้ หากนักท่องเที่ยวไม่กลับมามากอย่างที่คาดการณ์
ปัจจุบันยังมีหลายตัวแปรที่ยังมองไม่เห็นและยังไม่แน่ใจ เช่น โควิด-19 จะเกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 4 รอบที่ 5 อีกหรือไม่ ไม่แน่ใจจะเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน การเมืองในประเทศ และตลาดหุ้นจะ crash (ถล่ม)หนักหรือไม่ ไม่แน่เรื่องอุปทาน เพราะเริ่มมีปัญหาหลายกลุ่ม เช่นปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอส่งออก โรงแรมที่ปิด เครื่องบินพร้อมจะบินหรือไม่
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังต้องการการกระตุ้น แต่ไม่ใช่เม็ดเงินอัดฉีด หรือนโยบายการเงิน เพราะยังมีช่องให้ใช้เหลือไม่มาก คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำที่ระดับ 0.50% อย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจฟื้นไม่ท้น เงินเฟ้อติดลบ ขณะนี้จะต้องใช้นโยบายการคลัง และนโยบายอื่นๆ เช่นการเร่งฉีดวัคซีน เพื่อให้เงินไปถึงธุรกิจและประชาชน แล้วนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานหรือไม่ เพื่อให้ GDP เพิ่มขึ้น ขณะที่รัฐบาลคาดว่าจะใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท มีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 50% ของ GDP คาดปลายปีแตะเกือบถึงเพดานที่ 60% ถ้าไม่ยกเพดานขึ้น น่าห่วงว่าจะมีเงินในการกระตุ้นอีกหรือไม่
” เราคาดว่าดอกเบี้ยไทยจะอยู่ระดับต่ำอีกนาน 3 ปี แต่หากจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.25% ขณะที่โลกกำลังขึ้นดอกเบี้ย ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะดอกเบี้ยสหรัฐยังต่ำกว่าไทยมาก แต่ไทยจะต้องส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยให้ตลาดรู้ก่อน มิเช่นนั้นตลาดเงินจะมีความผันผวนมาก “ดร.ทิมกล่าว
ส่วนการที่ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลการค้า และขาดดุลบริการ จากที่เคยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมานาน ไม่ทันตั้งตัว ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว จากต้นปี แข็งมากอยู่ที่ระดับ 29.8 บาทต่อดอลลาร์ ตอนนี้อ่อนตัวมากมาอยู่ที่ 31.45 บาท คาดอาจจะอ่อนไปอยู่ที่ 31.50 บาทกลางปี ส่วนที่เหลือของปีค่อยๆ แข็ง กลับมาอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์