แบงก์น่า “ซื้อ” ได้กำไร 4 เด้ง BBL เด่นสุด ปันผลเฉียด 2%

HoonSmart.com>>ในเดือนเม.ย.นี้ ธนาคารพาณิชย์ทยอยประกาศผลงานไตรมาส 1/64 บล.หยวนต้าคาด 7 แบงก์ โกยกำไรสุทธิ 26,801 ล้านบาท ร่วง 29.3% จาก Q1/63 ลดลง 4.5% เทียบ Q4/63 เจอโควิดระบาดระลอกใหม่ แนวโน้มไตรมาส 2 ดีขึ้น แถมมีโอกาสเพิ่มน้ำหนักใน SET 50 และ 100 หลังเปลี่ยนวิธีคิดฟรีโฟสทใหม่ ยกเว้น TMB กลยุทธ์แนะจังหวะหุ้นร่วง ทยอยเก็บ ถือรับปันผลงาม BBL-KBANK จ่าย 2.50 บาท/หุ้น SCB แจก 2.30 บาท ขณะที่ธปท.มีนโยบาย “โกดังพักหนี้” ลดภาระการตั้งสำรอง

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) วิเคราะห์หุ้นธนาคาร 7 แห่ง ให้น้ำหนักมากกว่าตลาด คาดการณ์ไตรมาสแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิรวม 26,801 ล้านบาท ลดลง 29.3% จากฐานสูงในไตรมาสแรกปีก่อน (Q1/63) และลดลง 4.5%จากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา (Q4/63) หลังคาดการณ์ว่าธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จะกลับมาตั้งสำรองเพิ่มขึ้น และรายได้ดอกเบี้ยรับที่ชะลอตัวลง ทำให้กำไรโดยรวมสะดุดเล็กน้อยจากโควิด-19 แพร่ระบาดระลอกใหม่ แต่จะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป

ในมุมมองเชิงกลยุทธ์ แม้ว่ากำไรไตรมาส 1/64 อาจจะไม่โดดเด่นมากนัก แต่กลุ่มแบงก์ยังมีปัจจัยเชิงเทคนิคอยู่ คือการเปลี่ยนวิธีการคำนวณดัชนีเป็นการใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วย Free Float (Free Float Adjusted Market Capitalization) จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Full Market Capitalization) โดยกลุ่มธนาคารจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มน้ำหนักสูงที่สุด ใน SET 50 ประมาณ 6.2% และ SET 100 ประมาณ 5.8% โดย BBL ได้เพิ่มมากที่สุด ตามด้วย SCB ขณะที่ TMB เป็นธนาคารแห่งเดียวที่น้ำหนักจะลดลงประมาณ 0.3-0.4%

บล.หยวนต้าคาดการณ์แบงก์ที่มีกำไรฟื้นตัวโดดเด่น เทียบไตรมาส 4/63 ได้แก่ BBL คาดกำไรสุทธิ 4,604 ล้านบาท พุ่งขึ้น 92%จากไตรมาสก่อนหน้า และ -40%จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลักๆ มีแรงหนุนค่าใช้จ่ายลดลงทั้งการตั้งสำรองและการลงทุนในเพอร์มาตาของอินโดนีเซียที่ไม่กระทบงบกำไรขาดทุนเหมือนในปี 2563 รองลงมาคือ SCB คาดกำไรสุทธิ 6,731ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.6%จากไตรมาส 4 ปีก่อน และ-27.2%จากไตรมาส 1/63 คาดการตั้งสำรองหนี้ผ่อนคลาย รวมถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ในกลุ่ม SME และกลุ่มท่องเที่ยวลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ KKP คาดกำไรสุทธิ 1,386 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1% แต่ลดลง 6.6%เทียบไตรมาส 1/63  จากการตั้งสำรองลดลง พอร์ตสินเชื่อยานยนต์ขยายตัวดีกว่าอุตสาหกรรม และรายได้ค่านายหน้าซื้ออขายหลักทรัพย์ดีขึ้น

สำหรับธนาคารที่มีกำไรฟื้นตัวอ่อน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO)

สำหรับธนาคารที่มีกำไรชะลอตัว  ได้แก่ KBANK คาดกำไรสุทธิ 7,481 ล้านบาท ร่วงลง -43.6% จากฐานกำไรของไตรมาส 4/63  ที่สูงกว่าปกติเพราะชะลอการตั้งสำรองลงไปมาก ไตรมาสนี้จะกลับมาสำรองเพิ่มตามปกติ ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานยังอ่อนตัว แรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และคาด TMB มีกำไรสุทธิ 4,163 ล้านบาท รูดลง 6.1% จากไตรมาสก่อน และทรุดลงหนักถึง 72.2% เทียบกับไตรมาส 1/63 มองเป็นธนาคารที่จะ Underperform กลุ่มในครึ่งปีแรก เพราะจะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกับธนาคารธนชาต เช่นการลดพนักงาน

“แนะนำ KBANK และ KKP เป็น Top Pick หากเลือกตัวที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการเพิ่มน้ำหนักตามฟรีโฟลทและราคายังคงปรับตัว Laggard อยู่แนะนำให้ซื้อ  BBLที่ราคาเป้าหมาย 151  บาท โดยยังคงแนะนำซื้อ SCB,KBANK,KKP ด้วย คงแนะซื้อเก็งกำไร KTB,TMB และ TISCO คาดว่า TISCO ให้อัตราผลตอบแทนปันผลสูงที่สุดในปีนี้ที่ 6.7% สูงกว่า KKP ที่ประมาณ 6.2% ขณะที่ KBANK ให้ต่ำสุด 2.7%” บล.หยวนต้าระบุ

ด้านบล.ทรีนีตี้ วิเคราะห์ว่าธนาคารขนาดเล็กอย่างเช่น TISCO จะมีกำไรโดดเด่นกว่าธนาคารขนาดใหญ่ ทั้งการเติบโตเทียบกับไตรมาสแรกปีก่อนและไตรมาส 4/63 เพราะค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ลดลง และระดับเงินปันผลที่เตรียมจ่ายราว 6.4% ทำให้ในระยะสั้นดูมีความน่าสนใจมากกว่ากลุ่ม แนะนำซื้อที่ราคาเป้าหมาย 106 บาท

นอกจากนี้ยังคงแนะนำซื้อ  KTB ราคาเป้าหมาย 14 บาท และ BBL 151 บาท ส่วน KBANK ซื้อเมื่ออ่อนตัว ราคาเป้าหมาย 158 บาท  คาดกำไรไตรมาส 1/64 อ่อนตัวลง หลังมีการกลับสำรองหนี้

บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) คงคำแนะนำทยอยซื้อ BBL ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 141 บาท คาดไตรมาส 1/2564 มี กำไร 7,327 ล้านบาท พุ่งขึ้น 205.6% จากไตรมาสก่อนปีก่อน แต่ลดลง 4.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะค่าใช้จ่ายลดลง ขณะที่สินเชื่อยังคงหดตัวประมาณ 0.9% จากไตรมาส 4 ปีก่อนเพราะได้รับผลกระทบจากการชำระคืนของลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ แต่ส่วนตางดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ 2.18% จาก 2.16% โดยรวมคาดว่าทั้งปีนี้จะมีกำไรทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 96.8%

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไม่ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และนำมารวมจ่ายทั้งปี 2563  ซึ่งธนาคารหลายแห่งมีการขึ้นเครื่องหมาย XD  ให้สิทธิรับเงินปันผล ภายในเดือนเม.ย. เช่น วันที่ขึ้น XD  20 มี.ค. KBANK จ่ายหุ้นละ 2.50 บาท SCB จ่าย 2.30 บาท วันที่ 21 มี.ค. BBL ขึ้นป้าย จ่ายหุ้นละ 2.50 บาท เทียบกับราคาหุ้นปิดที่ 127 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 1.97% ต่อปี  TISCO จ่ายหุ้นละ 6.30 บาท ขึ้นป้าย 28 เม.ย. KKP และ TMB ขึ้นเครื่องหมายวันที่ 29 เม.ย.

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้มีนโยบายช่วยบรรเทาภาระในการชำระหนี้ให้แก่ธุรกิจ ท่ามกลางการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเปิดโครงการ”โกดังพักหนี้” ให้นำทรัพย์สินมาวางหลักประกัน แลกกับการหยุดชำระหนี้นาน 5 ปี และมีสิทธิในการซื้อทรัพย์สินคืน คาดว่าจะได้รับความสนใจพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงแรม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้เสียและลดภาระการตั้งสำรองหนี้ของแบงก์

อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดว่านโยบายนี้จะช่วยเหลือแบงก์ และลูกหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะปัญหาใหญ่ของโครงการนี้คือการตีราคาหลักประกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกหนี้ต้องการราคาสูง แต่แบงก์กดราคาต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องมูลค่าหลักประกันที่จะลดลงในอนาคต