THG จับมือจุฬา ลุยธุรกิจกัญชง-กัญชา ต้นน้ำยันปลายน้ำ

HoonSmart.com>> “ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ปเซ็น MOU ร่วมกับ ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ศึกษา พัฒนา วิจัยการนำกัญชง-กัญชามาใช้ในทางการแพทย์-เชิงพาณิชย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งเงินทุนไว้ 300 ล้านบาท จัดตั้งโรงสกัด-โรงเรือน-นำเมล็ดพันธุ์  เตรียมเป็นผู้รับผลิตให้เอกชน ส่วนภาพรวมธุรกิจปี 64 คาดเติบโตดีหลังเปิดประเทศ ยอมรับไตรมาส 1  ลดลง 

นพ.บุญ วนาสิน

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) กับศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (DDRC) ในวันนี้ (5 เม.ย.64) เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ และสนับสนุนการเพาะปลูก พร้อมทั้งศึกษา พัฒนาและวิจัย ในการการนำกัญชงและกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้บริษัทฯได้ตั้งเงินลงทุนสำหรับโครงการนี้ประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดตั้งโรงสกัดที่มีมาตรฐานรองรับ โรงเรือนเพาะปลูกที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดต้นทุนต่างๆ และใช้ซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ดี รวมถึงใช้ในการบริหารโครงการ โดยบริษัทฯจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คาดว่าในอนาคตจะมีพันธมิตรที่เข้ามาร่วมลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ เราได้เตรียมนำเข้าเมล็ดพันธุ์ โดยเลือกเมล็ดที่สอดคล้องกับภูมิอากาศในประเทศ เพื่อให้ได้ผลทางการแพทย์ที่สูงที่สุด และในทางการรักษา สารที่สกัดออกมา ต้องเหมาะสมกับโรคต่างๆอย่างดีที่สุด โดยความร่วมมือจะช่วยให้เราพัฒนาและวิจัยผลออกให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย” นพ.บุญ กล่าว

ส่วนของปลายน้ำ บริษัทจะเป็นผู้รับจ้างผลิตให้กับบริษัทภาคเอกชน ประเภทธุรกิจเสริมความงาม และยา โดยมีผู้ติดต่อให้ความสนใจที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรค่อนข้างมาก

สำหรับภาพรวมธุรกิจในปี 2564  บริษัทคาดว่าจะเห็นการเติบโตที่ดีขึ้นได้หลังจากมีการเปิดประเทศเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้เริ่มเห็นการฉีดวัคซีนที่ผลิตเองในประเทศได้ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. นี้ ปัจจุบันบริษัทฯได้มีการพูดคุยกับผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศอยู่ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากยังคงเป็นการซื้อขายในรูปแบบรัฐบาลกับรัฐบาล (G2G)

ขณะที่แนวโน้มในไตรมาส 1/64 อัตราการเข้าใช้บริการรักษาลดลง ตามกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่มาก และยังไม่สามารถรับผู้ป่วยต่างประเทศได้ โดยโรงพยาบาลขนาดเล็กอัตราการเข้าใช้ลดลงประมาณ 15% ส่วนขนาดใหญ่และกลาง ไม่ได้ลดลงมาก อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19