ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดหนี้ครัวเรือนพุ่งต่อเนื่องปี 64 แตะ 89-91% ต่อจีดีพี

HoonSmart.com> ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดหนี้ครัวเรือนปี 64 แนวโน้มสูงต่อเนื่องในกรอบ 89-91% ต่อจีดีพี ตอกย้ำทางการไทยต้องกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจังหลังวิกฤตโควิด 19 สิ้นสุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดในไตรมาส 4/2563 บ่งชี้ว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปิดสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยภาพของระดับหนี้ครัวเรือนที่ทะลุ 14 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปีตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยหนี้ครัวเรือนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2563

ขณะที่ข้อมูลสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยในช่วงเดือนมี.ค. 2564 สะท้อนว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด 19 ทำให้กระแสรายได้และสถานะทางการเงินของครัวเรือนบางกลุ่มย่ำแย่ลง ซึ่งตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มในปี 2564 แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ถูกกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด 19 ในปี 2563 ที่ผ่านมา แต่คงต้องยอมรับว่าการลากยาวของปัญหาโควิด 19 ในประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้กู้รายย่อยที่มีการกู้ไปประกอบธุรกิจ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่อยู่นอกเหนือความครอบคลุมของสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ แม้ว่า สำหรับลูกหนี้รายย่อยโดยทั่วไป จะยังสามารถสมัครเข้าโครงการรับความช่วยเหลือทางการเงินได้จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 2564 นี้ก็ตาม

นอกจากนี้ หากถอยออกมามองในภาพใหญ่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตโควิด 19 น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปี 2564 มีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563 ที่เติบโตเพียง 3.9% ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 89.0-91.0% ต่อจีดีพีในปี 2564 เทียบกับระดับ 89.3% ต่อจีดีพีในปี 2563 ซึ่งตอกย้ำว่า ทางการไทยคงหันกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจังเมื่อวิกฤตโควิด 19 สิ้นสุดลง โดยอาจกลับมาสานต่อมาตรการดูแลให้การก่อหนี้ของครัวเรือนสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ (Affordability)


.