BPP ทุ่ม 2.5 พันลบ. ลงทุนโรงไฟฟ้า IGCC ญี่ปุ่น 543 MW คาด COD เม.ย.นี้

HoonSmart.com>> “บ้านปู เพาเวอร์” เข้าซื้อหุ้น Nakoso IGCC Management สัดส่วน 40% ลงทุนโรงไฟฟ้า IGCC ในญี่่ปุ่น กำลังผลิต 543 เมกะวัตต์ คาด COD ภายในเดือนเม.ย.64 นี้ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2.5 พันล้านบาท ลั่นเดินหน้าลงทุนหนุนกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ตามเป้าในปี 68 ด้าน “บ้านปู” ผู้ถือหุ้นใหญ่

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 บริษัท Banpu Power Investment Co., Ltd (BPIC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ได้ลงนามในสัญญาเพื่อการลงทุนในบริษัท Nakoso IGCC Management Co., Ltd (NIMCO) สัดส่วน 33.5% โดยบริษัท NIMCO ถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้า Nakoso Integrated Gasification Combined Cycle (IGCC) ขนาด 543 เมกะวัตต์ ณ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2.5 พันล้านบาท โดยการโอนกรรมสิทธิ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.2564

โรงไฟฟ้า Nakoso IGCC พัฒนาขึ้นภายใต้การร่วมทุนของ 5 บริษัท (Joint venture partners) โดยมีบริษัทมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชัน พาวเวอร์ จํากัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้พัฒนาหลักในการนําเทคโนโลยี Integrated Gasification Combined Cycle ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงโดยเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการแปลงสถานะถ่านหินให้เป็นก๊าซ (Gasification) กับ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซ (Gas Fired Combined Cycle Plant) เข้าด้วยกัน โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนามากว่า 30 ปี

อีกทั้งโรงไฟฟ้า Nakoso เป็นโรงไฟฟ้า IGCC ที่มีการพัฒนามาเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Commercial scale) ซึ่งมีประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าที่สูง และลดการปล่อยมลภาวะให้อยู่ในระดับต่ำ (HELE) โดยคาดว่าจะเปิดดําเนินการเชิงพาณิชย์ภายในเดือน เม.ย.2564 โดยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งของประเทศตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะยาว และมีสัญญาการจัดหาเชื้อเพลิงระยะยาวเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกําลังการผลิต 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 โดยมองหาโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในตลาดที่มีความเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าและมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล

ด้านบริษัท บ้านปู (BANPU) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ BPP แจ้งว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิต 6,100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 โดยมองหาโอกาสการลงทุนในโรงไฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในตลาดที่มีความเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าและมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล