•ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากแรงกดดันของ Bond Yield ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ทั่วโลกกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนยังคงมีความคืบหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 36.31% และ 13.15% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ เป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วปรับลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียซึ่งมีการแจกจ่ายวัคซีนช้ากว่า นอกจากนี้ปธน. Joe Biden ได้ลงนามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับพิจารณาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ด้วยวงเงิน 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
• แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ภายใต้วงเงิน 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของปธน. Joe Biden คาดว่าจะเน้นการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพทางการแข่งขันของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี นาง Jenet Yel en รมว.คลังสหรัฐฯ กล่าวว่า วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ต้องมาพร้อมกับการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลเพื่อชดเชยรายจ่ายดังกล่าวด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกจ่ายด้วยการปรับขึ้นภาษี โดยตามแผนจะมีการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลเป็น 28% จาก 21%, ปรับขึ้นภาษีบุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดเป็น 39.6% จาก 37% และปรับขึ้นภาษีอื่นๆ อีก เช่น ภาษีผลกำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ Bond Yield ปรับลดลงเมื่อกลางสัปดาห์
• ดัชนี Composite PMI เบื้องต้นเดือน มี.ค. ของประเทศหลักส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะของยุโรป โดยดัชนียูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น +3.7 จุด เป็น 52.5 จุด กลับเข้าสู่เกณฑ์ขยายตัว (เหนือ 50 จุด) เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และดีกว่าที่ตลาดคาด จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ดัชนีญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้น +0.1 จุด เป็น 48.3 จุด แต่ยังอยู่ในภาวะหดตัว (ต่ำกว่า 50 จุด) จากผลกระทบของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่ดัชนีสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง -0.4 จุด เป็น 59.1 จุด ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เนื่องจากดัชนีผลผลิตได้ปรับตัวลดลงถึง -3.3 จุด เป็น 54.5 จุด จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตให้ทันยอดคำสั่งซื้อ
• ยอดผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการครั้งแรกในสหรัฐฯ ลดลงแตะระดับต่ำสุดในปีนี้ โดยตัวเลขยอดผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง -9.7 หมื่นราย เป็น 6.84 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งออกมาดีกว่าตลาดคาดที่ 7.3 แสนราย อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวยังคงสูงกว่าช่วงก่อน COVID-19 ประมาณ 4 เท่าตัว สะท้อนภาพรวมของตลาดแรงงานที่ยังคงเปราะบางอย่างมาก
กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นไทย : แนะนำ “คงน้ำหนัก” การลงทุน
ตลาดหุ้นเกาหลี : แนะนำ “เพิ่มน้ำหนัก” การลงทุน
ตลาดหุ้นจีน : แนะนำ “คงน้ำหนัก” การลงทุนในหุ้นจีน A-Shares และหุ้นจีน H-Shares
ตลาดหุ้นยุโรป : แนะนำ “เพิ่มน้ำหนัก” การลงทุน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ : แนะนำ “คงน้ำหนัก” การลงทุน
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น : แนะนำ “คงน้ำหนัก” การลงทุน
ตลาดตราสารหนี้
ตราสารหนี้ไทย : แนะนำ “คงการลงทุน” ในตราสารหนี้ระยะสั้น
ตราสารหนี้ต่างประเทศ : ขายทำกำไร SCBUSHY และแนะนำลงทุนใน SCBFIN และ SCBGSIF
สินทรัพย์ทางเลือก
ทองคำ : แนะนำ “คงน้ำหนัก” การลงทุน
น้ำมัน : แนะนำ “คงน้ำหนัก” การลงทุน
อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน : แนะนำ “เพิ่มน้ำหนัก” การลงทุนใน SCBPIN