SAMART ปี 64 เทิร์นอะราวด์ ปรับโมเดล เลื่อนขาย IPO “แคมโบเดียฯ” ปลายปี 65

HoonSmart.com>>”วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์” ลั่นปี 64 “สามารถคอร์ปอเรชั่น”พลิกมีกำไร  SAMART คาดรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท SAMTEL 8,000 ล้านบาท ปรับโมเดลธุรกิจ เพิ่มรายได้ประจำ 50% ใน 2 ปีข้างหน้า เน้นตลาดคอนซูมเมอร์  จับมือ Lookout สหรัฐ เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “ปกป้อง” (PokPong) ป้องกันข้อมูลส่วนตัวในมือถือยุคดิจิทัล นำแอปฯหมดดูมายกระดับ ดูดวงชะตาตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า ในปี 2564 กลุ่มสามารถฯจะเทิร์นอะราวด์ จากปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ขาดทุน 309.14 ล้านบาท คาดว่าปีนี้พลิกมีกำไร จากรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีก่อนทำได้กว่า 9,000 ล้านบาท

ส่วนบริษัท สามารถเทลคอม (SAMTEL) ก็จะมีกำไร จากปีก่อนขาดทุน 287.50 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้อยู่ 6,860 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับงานใหม่อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากงานที่เข้าประมูลมูลค่ารวมกว่า 1.5-2 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีงานใหม่เข้ามาเพียง 3,265 ล้านบาท คาดจะมีรายได้ 8,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 5,510 ล้านบาท และบริษัท สามารถ ดิจิตอล (SDC) คาดว่าจะมีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มี 659 ล้านบาท ส่วนบริษัทแคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิสเซล (CATS) ผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศทั่วน่านฟ้ากัมพูชา จากที่เคยมีกำไรสูง แต่ปีก่อนขาดทุน ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้น ไฟล์บินกลับมา 30-40% จากระดับสูงสุด

” ปีนี้เป็นปีแห่งการฟื้นตัวของกลุ่มสามารถ บริษัทได้ปรับโมเดลธุรกิจ เป็น B2G2C มากขึ้น เน้นตลาดคอนซูมเมอร์ และแทนที่จะประมูลงานของส่วนราชการเหมือนที่ผ่านมา เมื่อเกิดโควิด งานออกมาน้อย และมีคู่แข่งขันจำนวนมาก เราก็หันมาลงทุนให้ภาครัฐที่มีแผนลงทุนด้านดิจิทัลก่อน และเก็บรายได้จากการให้บริการระยะยาว และ SDC จะเปิดตัว Mobile APP  สร้างรายได้ประจำ โดยตั้งเป้าใน 2 ปีนี้มีสัดส่วน 50% ของรายได้รวม จากปีก่อนลดลงมาเหลือ 30% จากที่ผ่านมามีสัดส่วน 40% เพราะบริษัทแคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิสเซล มีรายได้ลดลง  SAMTEL  ขาดทุนในรอบหลายปี เพราะมีงานในสนามบินเยอะ เรา write-off ไปหมดแล้ว  “นายวัฒน์ชัย กล่าว

สำหรับตัวอย่างของการสร้างรายได้ประจำ นายวัฒน์ชัยกล่าวว่า SAMART ได้ลงนามสัญญารับงานพิมพ์รหัสควบคุมบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) บนภาชนะบรรจุสุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตภายในประเทศทั้งหมด 9 แห่ง รวม 42 สายพานการผลิต มูลค่าโครงการ 8,032 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้เป็นระยะเวลา 7 ปี มูลค่ารวม 8,032 ล้านบาท หรือประมาณปีละกว่า  1000 ล้านบาท ขึ้นกับจำนวนเบียร์ที่ผลิต อัตรา 0.25 บาท/ขวดหรือกระป๋อง เริ่มรับรู้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2  หรือต้นไตรมาส 3/64  ซึ่งจะช่วยให้กรมสรรพสามิตมีรายได้เก็บภาษีเบียร์เพิ่มขึ้นปีละ 8,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีโอกาสจะได้งานลักษณะเดียวกันเพิ่มเติมในสินค้าประเภทสุรา Fruit Beer และ น้ำมันเชื้อเพลิง

ขณะเดียวกัน กลุ่ม SAMARTโดยบริษัท ซีเคียวอินโฟ จับมือกับ Lookout ผู้นำด้าน Mobile Security จากสหรัฐอเมริกา เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “ปกป้อง” (PokPong) ที่จะมาช่วยเฝ้าระวังและป้องกันภัยทางไซเบอร์ให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ  ซึ่งมีระบบฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดผ่านระบบ Lookout Security Cloud ตรวจจับและป้องกันมัลแวร์ไวรัสได้เร็วกว่าและครอบคลุมกว่า ลดโอกาสการถูกโจมตีจากภัยคุกคามต่างๆ จุดเด่นอยู่ที่ฟังก์ชั่นภาษาไทยใช้งานง่าย ซึ่งบริษัทใช้งบลงทุน 20 ล้านบาทและจะใช้งบทางการตลาดอีกประมาณ 30-40 ล้านบาท

“แอปฯ ปกป้อง กำหนดอัตราค่าบริการ 59 บาท/เดือน หรือ 559 บาท/ปี ตั้งเป้าหมายผู้ใช้บริการปีแรก 1 ล้านราย คาดว่าจะมียอดผู้ใช้งาน 1-2% จากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 92 ล้านเลขหมาย เนื่องจากมีกลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์โฟนถึง 55 ล้านคน ซึ่งบริษัทกับ Lookout ทำข้อตกลงแบ่งส่วนรายได้ฝ่ายละ 50%”นายวัฒน์ชัย กล่าว

นอกจากนี้จะนำแอปพลิเคชั่นหมอดูมา  Relunch เป็น HORO World ต้นเดือนพ.ค.นี้ ที่จะให้บริการดูดวงชะตาตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต คาดว่าจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท  จากแอปหมดูที่ผ่านมาสร้างรายได้ปีละ 70-80 ล้านบาท

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า กลุ่ม SAMART ได้ปรับเปลี่ยนองค์กรตลอดเวลาในช่วง 4-5 ปีก่อน  หาจุดแข็งธุรกิจและสร้างธุรกิจใหม่ ตอนนี้ต้องหาบุคคลากรเพิ่มเติม  พร้อมยังมองหาโอกาสลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะการลงทุน Start up ผ่าน Angel Fund ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนโครงการที่ต้องการทุนในช่วงเริ่มต้นประมาณ 25 โครงการ และกำลังพิจารณาเข้าร่วมลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสเติบโต ลักษณะ Venture Capital (VC)  ประมาณ  25 บริษัท  แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะลงทุนเท่าไร เพราะต้องหารือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อน ซึ่งในช่วงแรกไม่ได้คาดหวังเชิงรายได้  รวมทั้งบริษัทยังร่วมพันธมิตรศึกษาธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะจากนิคมอุตสาหกรรม  ก่อนหน้านี้กลุ่ม SAMART เคยเข้าศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์

สำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยของบริษัทย่อย คือบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) ซึ่งถือหุ้นบริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ที่ทำธุรกิจด้านการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา ที่ผ่านมาได้รับอนุมัติให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก(IPO) แล้ว แต่เมื่อปีที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจ CATS คาดว่าจะยื่นไฟลิ่ง อีกครั้งในปลายปี 2565  คาดว่าปีนี้จะมีกำไร ก่อนจะฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติในปีหน้า