ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้วิกฤต “ค่าเงินตุรกี” กระทบไทยจำกัด

HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้วิกฤตค่าเงินลีรา ตุรกี ร่วงต่ำสุดรอบ 4 เดือนหลังผู้ว่าการธนาคารกลางถูกปลด ความเชื่อมั่นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจกำลังเสื่อมถอย สะท้อนการแทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ส่วนผลกระทบไทยจำกัด เหตุไทยส่งออกตุรกีเพียง -0.4%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินลีราของตุรกีเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก หลังตลาดการเงินเอเชียเปิดทำการในวันจันทร์ที่ 22 มี.ค. 2564 โดยเงินลีราอ่อนค่าทะลุแนว 8.0000 แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือนที่ 8.4706 ลีราต่อดอลลาร์ฯ หรือร่วงลงประมาณ 15% เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดของวันศุกร์ที่ 19 มี.ค. 2564 รับข่าวที่ประธานาธิบดีตุรกี Recep Tayyip Erdogan ประกาศปลดนาย Naci Agbal ผู้ว่าการธนาคารกลางตุรกีเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อนับรวมตั้งแต่เดือนก.ค. 2562 เป็นต้นมาแล้ว มีการปลดผู้ว่าการธนาคารกลางตุรกีออกจากตำแหน่งก่อนวาระแล้ว จำนวนถึง 3 คน

ตุรกี เป็นหนึ่งในประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตค่าเงิน (เงินลีราตุรกี) ตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเด็นด้านความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังเสื่อมถอยลงท่ามกลางสัญญาณที่สะท้อนการแทรกแซงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางตุรกี ซึ่งประธานาธิบดี Erdogan ได้ออกมาเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้ธนาคารกลางตุรกีปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำ

แต่ในช่วงเวลาไม่ถึง 5 เดือนของการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าการฯ Agbal ธนาคารกลางตุรกีได้ทยอยคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมทั้งสิ้น 8.75% โดยการประชุมรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 ธนาคารกลางตุรกีมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2.00% มาอยู่ที่ระดับ 19.00% เพื่อสกัดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ และควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์เงินทุนไหลออก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า วิกฤตค่าเงินลีราของตุรกีในรอบนี้มีความซับซ้อนของปัญหา และเป็นโจทย์ที่แก้ยากกว่าวิกฤตค่าเงินลีราในรอบก่อนๆ แม้ผู้ว่าการธนาคารกลางตุรกีคนใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งจะออกมาส่งสัญญาณกับตลาดว่า ธนาคารกลางตุรกีจะยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับลงไปในเร็วๆ นี้ก็ตาม

ปัญหาที่ตุรกีกำลังเผชิญอยู่นั้น เป็นประเด็นด้านความไร้เสถียรภาพทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากการใช้จ่ายและการลงทุนที่เกินตัวทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งส่งผลทำให้ตุรกีต้องรับมือกับปัญหาหนี้สูง (ประมาณ 174% ของจีดีพี) ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเผชิญภาวะเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ตุรกีมีทุนสำรองฯ อยู่ที่ประมาณ 52.7 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งต่ำกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของตุรกีที่มีอยู่ที่ 133.9 พันล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่การอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของค่าเงินลีราทำให้อัตราเงินเฟ้อของตุรกีเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 5.0% ของธนาคารกลางตุรกีอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าธนาคารกลางตุรกีจะทำการคุมเข้มด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายรอบก็ตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความอ่อนแอจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตุรกีไม่สามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่จากวิกฤตโควิด 19 ทำให้ค่าเงินลีราของตุรกีมีความเสี่ยงที่จะเผชิญแรงกดดันอีกหลายระลอก และอาจมีผลกดดันสกุลเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง รวมถึงสกุลเงินบางส่วนในเอเชีย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ณ เวลานี้ ธนาคารกลางตุรกีน่าจะเผชิญความยากลำบากที่จะควบคุมสถานการณ์มากกว่าวิกฤตในรอบก่อนๆ เนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรทางการเงิน โดยทุนสำรองฯ ที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่มีต่อค่าเงินลีราและสกัดความเสี่ยงจากภาวะเงินทุนไหลออก

นอกจากนี้ยังมีการประเมินกันว่า หากหักฐานะล่วงหน้าสุทธิ (Net Forward Position) แล้ว ทุนสำรองฯ ของตุรกีจะลดต่ำลงไปอีก ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะชำระคืนหนี้ต่างประเทศ

สำหรับผลต่อไทยนั้น มองว่า ผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัดเนื่องจากไทยและตุรกีมีการเชื่อมโยงระหว่างกันค่อนข้างน้อย ดังนั้นปัญหาวิกฤตลีราของตุรกีไม่น่าจะลุกลามส่งผลเป็นลูกโซ่มายังไทย โดยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปตุรกีอยู่ที่ประมาณ 0.4% ของมูลค่าการส่งออกรวม (ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าของไทยจากตุรกีมีเพียง 0.2% ของมูลค่าการนำเข้ารวม)

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า แรงกดดันจากวิกฤตเงินลีราอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มแรงหนุนต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ในระยะนี้ เพิ่มเติมไปจากปัจจัยเรื่องการขยับขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าบ้าง แต่ความแตกต่างของไทยจะอยู่ที่ไทยมีสถานะ/เสถียรภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง และไทยก็มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง