เศรษฐกิจไตรมาส 2 โตมากกว่า 4.8%

ธปท.เปิดตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 และเดือนมิ.ย.แข็งแกร่ง เติบโตเกือบทุกรายการ ทั้งส่งออก ท่องเที่ยว การบริโภค-การลงทุนของเอกชน ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่งผลให้ไตรมาส 2 ขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ที่เติบโต 4.8% ส่วนแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ และจีน เป็นต้น

” ไตรมาส 2 น่าจะดีกว่าไตรมาสแรกที่โต 4.8% เพราะส่งออก การท่องเที่ยวโดดเด่นมาก แต่ยังบอกเป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะต้องรอตัวเลขจากสภาพัฒน์อย่างเป็นทางการ ” นางสาวพรเพ็ญกล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวด้วย การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนชะลอลงจากเดือนก่อน แต่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำ โดยรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของกรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นสำคัญ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.38% ชะลอลงจาก 1.49% ในเดือนก่อน จากราคาผลไม้และเนื้อสัตว์ที่หดตัวตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก และผลของฐานราคาผักในปีก่อนที่อยู่ระดับสูงเป็นสำคัญ แม้ว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน โดยด้านสินทรัพย์เป็นการไหลออกสุทธิจากการนำเงินออกไปฝากยังต่างประเทศของทั้งสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน (ODC) เพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เป็นสำคัญ

ทางด้านหนี้สินเป็นการไหลออกสุทธิจากการขายตราสารหนี้และตราสารทุนของนักลงทุนต่างชาติสอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาคชะลอลงเล็กน้อย

มูลค่าการส่งออกสินค้าหักหรือไม่หักทองคำขยายตัวเท่ากันที่ 10% โดยเป็นการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีต่อเนื่องและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยเฉพาะเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และ สินค้าเกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันปาล์ม และน้ำตาลเป็นสำคัญ และกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 12.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ ขยายตัว 16.1%

ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 11.6% ทั้งจีนและฮ่องกง นักท่องเที่ยวมาเลเซียกลับมาขยายตัว แต่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและรัสเซียหดตัวส่วนหนึ่งจากการชะลอการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก