อย.เตือนเกษตรกร นักธุรกิจ ถูกหลอก

อย.เตือนประชาชน นักธุรกิจ ระวังถูกหลอก อย่าหลงเชื่อการชักชวนให้ปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ยืนยันขณะนี้ ยังไม่มีบริษัทใดหรือเกษตรกรรายใด ยื่นขอนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง เพื่อปลูกและขาย สงสัยเข้าเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th/Pages/HomeP_D2.aspx กด กัญชง

 

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)  แถลงว่า กระแสตื่นตัวการปลูกกัญชง อย่างกว้างขวาง อ.ย. มีความห่วงใยเกษตรกร ที่ให้ความสนใจจะปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เนื่องจาก ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดหรือเกษตรกรรายใด ยื่นเอกสารขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง เพื่อมาปลูกและขาย แต่มีการไปรวบรวมเกษตรกรที่ต้องการปลูกกัญชง แล้วทำเป็นเครือข่ายเกษตรกรปลูกกัญชงในหลายจังหวัด
.
“การประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา  เป็นเพียงการอนุญาตให้ 7 บริษัท เป็นผู้มีคุณสมบัตินำเข้าเมล็ดพันธุ์ แต่ยังไม่มีใครได้รับอนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากการนำเข้าแต่ละครั้ง ต้องได้รับใบอนุญาตทุกครั้งที่นำเข้าด้วย และยังไม่มีบริษัทได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชง เนื่องจาก การขออนุญาตปลูกกัญชง  ต้องแจ้งที่มาของแหล่งเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์และจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่จะปลูก รวมถึงเมื่อเก็บผลผลิตได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปลูกเพื่อเก็บเมล็ดสกัดน้ำมัน หรือปลูกเพื่อเก็บช่อดอกไปสกัดสารสำคัญ จะนำส่งให้โรงงานใดเป็นผู้รับซื้อ ต้องแจ้งให้ครบถ้วน” นพ.ไพศาลกล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข  มอบนโยบายให้ อย. อำนวยความสะดวกผู้ขอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ และเกษตรกรขออนุญาตปลูก ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ที่จะนำผลผลิตจากกัญชงไปผลิตสินค้าต่าง ๆ เพื่อให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้เกษตรกร แต่ต้องมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน

“อย. พร้อมสนับสนุน และแนะนำขั้นตอน การขออนุญาตแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ จึงขอให้ผู้ที่สนใจจะปลูกกัญชง และทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกัญชง ติดต่อขออนุญาตด้วยตนเอง และขอเตือนเกษตรกร ประชาชน ระวังถูกหลอกลวงจากผู้แอบอ้างว่าได้รับอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ได้รับอนุญาตปลูก ให้เข้าร่วมเครือข่าย โดยต้องจ่ายเงินค่าเข้าร่วมเครือข่าย”
.
ทั้งนี้ การปลูกกัญชง เกษตรกรที่จะปลูก ต้องขออนุญาตด้วยตนเองเป็นรายบุคคล ไม่สามารถใช้ใบอนุญาตเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย หรือนำใบอนุญาตของบุคคลอื่นมาสวมได้ เพราะจะต้องระบุพื้นที่ปลูกชัดเจน เปลี่ยนพื้นที่ปลูกไม่ได้ และต้องปลูกตามระยะเวลาที่ขออนุญาต  รวมไปถึงผู้ประกอบการผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่ต้องการใช้สารสกัดจากกัญชงเป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยา ก็ขอให้พิจารณาให้ดี เนื่องจากขณะนี้ ยังไม่มีโรงงานใดได้รับอนุญาตให้สกัดสารสำคัญ

หากสงสัย เข้าเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th/Pages/HomeP_D2.aspx กด กัญชง รวมทั้งขอให้ผู้ที่สนใจปลูกและประกอบธุรกิจรีบเสนอขออนุญาต พร้อมเสนอแผนการผลิตที่เหมาะสมเข้ามาด้วย เพื่อที่คณะกรรมการจะได้พิจารณาอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อย.ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลทางวิชาการ การปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และอากาศของประเทศไทย รูปแบบการปลูกที่เหมาะสม รวมทั้งอาจจัดทำโซนนิ่งการปลูกกัญชง ในประเทศไทย เพราะสภาพภูมิอากาศในบางพื้นที่ อาจจะเหมาะกับบางสายพันธุ์ และไม่เหมาะกับบางสายพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรจะพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะกับประเทศไทยและจัดทำต้นกล้าจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการปลูกกัญชงให้แก่เกษตรกร ให้ได้ผลผลิตที่โรงงานต้องการในราคาที่เหมาะสม