บลจ.ไทยพาณิชย์เชื่อมั่นจีน เปิด IPO กองทุน SCBCHIN เฟ้นสุดยอดหุ้นลงทุน

HoonSmart.com>> บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดขาย IPO กองทุนไทยพาณิชย์ Active All China Equity ระหว่าง 16 – 22 มี.ค.นี้ เชื่อมั่นตลาดหุ้นจีนแนวโน้มเติบโตในระยะยาว คัดสุดยอดหุ้นเพื่อโอกาสทำกำไร

ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นจีนว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาวจากหลายปัจจัยหนุน ถึงแม้ว่าจีนจะลดมาตรการการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนมองเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง และยังเป็นการปรับสมดุลของเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว บริษัทฯ จึงได้เปิดเสนอขาย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Active All China Equity (SCB Active All China Equity Fund : SCBCHIN) มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เหมาะสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ต้องการกระจายการลงทุนในจีน โดยเริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 16 – 22 มี.ค.2564 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท

กองทุน SCBCHIN เป็นกองทุนบริหารเชิงรุก ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ UBS (Lux) Equity SICAV – All China (USD), (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (share class) I-A1-acc โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน บริหารโดย UBS Fund Management (Luxembourg) S.A. จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์ก และอยู่ภายใต้ UCITS

ทั้งนี้ กองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มผู้นำอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจที่น่าสนใจที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในประเทศจีน (onshore) เช่น Traditional Chinese medicine, Home Appliances และ Domestic liquor และกลุ่มอุตสาหกรรมนอกประเทศจีน (offshore) เช่น Gaming & Media, Education Services และ E-Commerce เป็นต้น โดยวิธีการคัดเลือกหุ้นแต่ละตัวจากปัจจัยพื้นฐาน (Bottom-up) เพื่อเฟ้นหาหุ้นที่เป็น Best Idea ทั้งยังเน้นพอร์ตการลงทุนที่มีความเชื่อมั่นสูง (high-conviction) ประมาณ 20 – 50 ตัว ไม่ยึดติดน้ำหนักการลงทุนกับดัชนีอ้างอิง กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน

นอกจากนี้ กองทุนยังหาโอกาสการลงทุนจากการค้นคว้าพื้นฐาน โดยการเน้นลงทุนอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างที่เติบโตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการบริการของจีน (Strategic Industries) ทั้งยังให้ความสำคัญต่อการศึกษาบริษัทในเชิงลึก ด้วยการประเมินคุณภาพหลัก 3 ด้านคือ โครงสร้างอุตสาหกรรม ความสามารถทำกำไร และการกำกับดูแลและการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม (Fundamental Research/ Quality Checklist) พร้อมทั้งมุ่งสร้างผลการดำเนินงานสูงสุดจากการลงทุนผ่านกระบวนการคัดเลือกสินทรัพย์ (Portfolio Construction) รวมถึงการคัดเลือกผู้นำในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตของผลกำไรที่ดีกว่าตลาดและมีมูลค่าเหมาะสม (Industry Leaders) โดยมีคุณสมบัติ อาทิเช่น มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีแบบจำลองธุรกิจที่เป็นไปได้ มีการดำเนินการที่แข็งแกร่ง นำเป็นสู่โอกาสในการสร้างเม็ดเงินในระดับที่น่าสนใจ

สำหรับกองทุนหลัก บริหารโดยทีมผู้จัดการกองทุนชั้นนำจากประเทศจีนและทีมหุ้นเอเชียที่มีประสบการณ์อย่างยาวนาน และได้รับรางวัลการันตีความสำเร็จ ด้วยปรัชญาการลทุนที่เน้นลงทุนในผู้นำในอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจที่น่าดึงดูด มีผลการดำเนินงานของผู้นำในอุตสาหกรรมที่ดีกว่าดัชนีชี้วัดและตลาด และมี track-record ในการบริหารหลักทรัพย์ในประเทศและนอกประเทศจีนย้อนหลัง 20 ปี สำหรับ UBS Asset Management นับว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างชาติอันดับ 1 ในประเทศจีน ทั้งนี้ กองทุนหลักมีผลการดำเนินงานย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งอยู่ที่ 91.41% เทียบกับดัชนีอ้างอิง MSCI China All-Share อยู่ที่ 79.01% (ที่มา: Fund Factsheet จาก UBS Asset Management ณ วันที่ 31 มกราคม 2564)

“ประเทศจีนนับว่าเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจและมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเชื่อมั่นว่ายังมีแนวโน้มโตต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งเห็นได้ชัดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การเติบโตของตลาดค้าปลีกออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2019 มียอดขายเพิ่มขึ้น 16.5% มูลค่ากว่า 1.517 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเรื่องของการขอจดสิทธิบัตรมากเป็นอันดับ 1 ของโลก จำนวน 1.4 ล้านรายการ และเพิ่มการติดตั้งหุ่นยนต์กว่า 25% ต่อปีเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ภายในปี 2030 ยังคาดว่าประชากรจะเพิ่มขึ้นอีก 142 ล้านคน ทำให้ความต้องการในภาคบริการเพิ่มขึ้น ประกอบกับจะมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปี มากถึง 343.8 ล้านคน ส่งผลให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโต 9.3% p.a. CAGR ระหว่างปี 2017 – 2030 ถึงแม้ว่า ในปัจจุบันภาครัฐของจีนจะลดการอัดฉีดสภาพคล่อง แต่ก็ไม่สร้างความกังวลให้กับตลาด เนื่องจากจีนกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอัดฉีดมากนัก” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว