BCAP ปักธง AUM แตะ 1 แสนลบ.ปี 67 แผนปีนี้ตั้งเป้าโต 20%

HoonSmart.com>> “บลจ.บางกอกแคปปิตอล” ปักธงปี 67 ขยาย AUM แตะ 1 แสนล้านบาท โชว์ผลงานปี 63 เติบโตโดดเด่นสวนอุตสาหกรรม ชูนโยบายลงทุนครอบคลุมสินทรัพย์ทั่วโลกผ่านกองทุน ETF ต้นทุนต่ำ พร้อมเปิดแผนปี 64 ตั้งเป้าโต 20% AUM แตะ 6.2 หมื่นล้านบาท ลุยออกกว่า 10 กองทุนหุ้นธีมเมติก มองหุ้นทั่วโลกฟื้นตัว แนะจังหวะย่อทยอยซื้อ ส่วนหุ้นไทยมองเป็นจังหวะทยอยสะสม ชูกลุ่มท่องเที่ยว แบงก์ Laggard แนะเก็บกองทุนอสังหาฯ รีท โครงสร้างพื้นฐาน

เมธ์วดี ประเสริฐสินธนา

นางเมธ์วดี ประเสริฐสินธนา กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางกอกแคปปิตอล (BCAP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าขยายมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ในอีก 4 ปีข้างหน้าหรือในปี 2567 แตะ 1 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 20% และในปี 2564 ตั้งเป้าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นแตะ 6.2 หมื่นล้านบาท โดยเติบโตจากทั้ง 3 ธุรกิจ ได้แก่ กองทุนรวม, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล

สำหรับปี 2563 AUM เติบโต 20% โดยกองทุนรวมของ BCAP เติบโตถึง 95% มาอยู่ที่ 2.08 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 1.30 หมื่นล้านบาท โดยเติบโตสวนอุตสาหกรรมกองทุนรวมที่ AUM ลดลง 7% เนื่องจาก BCAP มีกองทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนไม่ว่าจะเป็น BCAP-GW กองทุนที่เป็นรูปแบบพอร์ทโฟลิโอการลงทุนที่นักลงทุนสามารถถือเป็นสัดส่วนหลักของพอร์ตการลงทุนได้ (Core-Portfolio) และยังมีกองทุนทรัพย์สินทางเลือก BCAP-GPROP กองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก และเพื่อให้ตอบสนองนักลงทุน เราจึงมีการออกกองทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี BCAP-GW SSF และยังนำโมเดลการลงทุนเพื่อการเกษียณจากต่างประเทศมาออกเป็นกองทุน Target date RMF ซีรี่ย์กองทุน RMF แรกในประเทศไทยที่ปรับสัดส่วนการลงทุนตามช่วงอายุของผู้ลงทุนอัตโนมัติ

นอกจากนี้ยังมีกองหุ้นเทคโนโลยี BCAP-CTECH กองทุนที่ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน และ BCAP-USND100 กองทุนหุ้นดัชนี NASDAQ-100 ที่ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมากมาย เช่น Apple Google Amazon ที่สร้างผลตอบแทนหลังจาก IPO มา 11 เดือนถึง 60%

ส่วนกองสำรองเลี้ยงชีพเติบโต 15% อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบอุตสาหกรรมเติบโตเพียง 2% เนื่องจากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยง BCAP มีสัดส่วนลงทุนต่างประเทศสูงถึง 40% เมื่อเทียบอุตสาหกรรมลงทุนเพียง 1% ส่งผลให้ลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ BCAP ได้รับผลตอบแทนที่ดีและ AUM เติบโตขึ้นมากจากตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวขึ้นได้ดีเมือเทียบหุ้นไทยติดลบ ส่วนกองทุนส่วนบุคคลเติบโต 19% มาอยู่ที่ 1.82 หมื่นล้านบาท จากจุดเด่นนโยบายการลงทุนที่ครอบคลุมสินทรัพย์หลากหลายประเภทและทั่วโลก บริหารด้วยรูปแบบการลงทุนระดับโลก

“ภาพรวม AUM ของ BCAP ยังเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน โดย 3 เดือนแรกเพิ่มขึ้นแล้ว 4 พันล้านบาท จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีลูกค้าใหม่สนใจให้บริหารกองทุนที่มีหลายโมเดลและกระจายลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีในตลาดแนสแด็กและหุ้นเทคจีนยังเติบโตได้ดี โดยภาพรวมปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 1 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท”นางเมธ์วดี กล่าว

นางเมธ์วดี กล่าวว่า สำหรับแผนงานในปี 2564 นี้เตรียมออกกองทุนใหม่ประมาณ 10 กองทุน เน้นลงทุนหุ้นในต่างประเทศตามธีมต่างๆ รวมทั้งมีแผนขยาย Selling Agent เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4-5 ราย จากปัจจุบันมีอยู่ 4 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง,บริษัทกรุงเทพประกันชีวิตและบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา

ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร

ด้านนายธนาวุฒิ พรโรจนางกูร รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล กล่าวถึงมุมมองการลงทุนในปีนี้มองทิศทางหุ้นทั่วโลกดีขึ้นจากจากสภาพคล่องล้นตลาดทั้งเงินจากการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมทั้งปัจจุบันประชาชนมีเงินสดในมือจำนวนมาก ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว จึงมองหุ้นยังน่าสนใจสำหรับการลงทุนในปีนี้ ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ไม่ค่อยดีนัก

สำหรับภาพรวมการลงทุนของกองทุน BCAP ปีนี้ได้กลับมาเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นไทย จากปีก่อนลดน้ำหนักลงทุนไป เนื่องจากมองแนวโน้มหุ้นที่ถูกกระทบจากโควิดจะฟื้นตัวกลับมาหลังจากวัคซีนมาแล้ว ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่ได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงมองหุ้นไทยในระยะสั้นเริ่มน่าสนใจมากขึ้นและเป็นจังหวะทยอยสะสม และปีนี้เน้นกลยุทธ์ Selective โดยมองหุ้นที่น่าสนใจได้แก่ หุ้นกลุ่ม Laggard ซึ่งเป็นหุ้นที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้ฟื้นตัวช้า เช่น กลุ่มท่องเที่ยว และแบงก์ รวมทั้งกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่กำลังปรับตัวขึ้น ได้แก่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์, ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน แต่คงต้องเลือกเป็นรายตัว

นายธนาวุฒิ กล่าวว่า ส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังมองเป็นจังหวะสะสมเช่นกัน ถึงแม้ที่ผ่านมาราคาหุ้นจะปรับขึ้นไปมากแต่ก็ปรับฐานลงมาระดับหนึ่ง เนื่องจากยังเป็นหุ้นเมกะเทรนด์ของโลกที่ลงทุนได้ในระยะยาวถึง 10 ปี โดยธีมที่น่าสนใจลงทุนระยะยาว เช่น Climate Change , Aging Population, Digitalization และการเติบโตของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นต้น

ส่วนความกังวลประเด็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นมองเป็นการสะท้อนเศรษฐกิจที่รีบาวด์หลังเหตุการณ์โควิดระบาดจบลง โดยคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1.4-1.7% ในช่วง 3-6 เดือน