HoonSmart.com>>”ระเฑียร”ประกาศนำทัพ “บัตรกรุงไทย” ปี 64 กำไรนิวไฮ ทำแผนยุทธศาสตร์เร่งเปลี่ยนแปลงองค์กรแบบก้าวกระโดด เน้นทำธุรกิจที่มีโอกาสทำกำไรคุ้มค่า ส่อเลิกธุรกิจพิโก-นาโนไฟแนนซ์ นักลงทุนต่างชาติมองบวกซื้อหุ้นกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง ดอดเข้ามาถือหุ้นเฉียด 10% ต้นทุนการเงินต่ำลง กู้สั้นดอกเบี้ยไม่ถึง 1% เน้นคุณภาพลูกค้า ลดสำรอง
นาย ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) แถลงข่าวที่จังหวัดสตูลเมื่อวันที่ 12 มี.ค.2564 ประกาศความมั่นใจว่าผลงานในปี 2564 จะมีกำไรสูงสุดใหม่ (นิวไฮ)ได้ แม้ว่าในปี 2563 มีกำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท น้อยกว่าปีก่อนที่ระดับ 5,524ล้านบาท แต่ก็ค่อนข้างพอใจ เพราะในไตรมาส2 มีการตั้งสำรองสูง และไตรมาสที่ 3 มีการตัดหนี้สูญมาก เรื่องภาษี ทำให้กำไรน้อยลง ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพื่อเหลือหนี้ที่มีคุณภาพดี
“ในฐานะที่เป็น CEO จะต้องทำยังไงให้กำไรสูงสุด จะให้น้อยลงได้อย่างไร ดังนั้นจะต้องทำนิวไฮไปตลอด ต้องกลับมาดูธุรกิจที่ทำต้องมีกำไร เน้นธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกันเพิ่มขึ้น เร่งขยายตลาด ส่วนพิโก ไฟแนนซ์ ทำหลายจุดแล้ว แต่หากการขยายทุกจังหวัดแล้ว ทำให้เกิดค่าตรวจสอบบัญชีที่สูงถือเป็นจุดอ่อน ต้นทุนอาจจะไม่คุ้มค่าสำหรับการดำเนินงาน และนาโนไฟแนนซ์ไม่มีใครทำแล้ว หลังจากเพดานดอกเบี้ยลดลงจาก 36% เหลือ 33% ถ้าไม่เห็นโอกาสทำกำไรมากพอ ก็คงไม่ทำ”นายระเฑียรกล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า จากวิกฤตที่รุนแรงของโควิด-19 และมาตรการต่างๆที่ปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง ซึ่งไม่แน่ใจว่าออกมาหมดแล้วหรือยัง เป็นตัวกระตุ้นให้แผนยุทธศาสตร์ในปี 2564 บริษัทต้องเร่งเปลี่ยนแปลงองค์กรแบบก้าวกระโดด สร้างโอกาสธุรกิจที่มีกำไร ให้เติบโตได้มากขึ้นและเร็วขึ้น คู่ขนานไปกับการทำธุรกิจเดิม เน้นทำกำไรแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างคลื่นใต้น้ำจนเป็นพลังคลื่นลูกใหญ่รับเกมธุรกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Infinite Game) โดยมุ่งขยายขอบเขตธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันที่หลากลาย เพื่อให้ KTC เป็นผู้เล่นหลักในตลาดที่ผู้บริโภคมองหา เช่นการเข้าถือหุ้นในบริษัทกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง ถึง 75.05% จะทำให้สามารถทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันได้อย่างครบวงจร และยังได้ใช้ประโยชน์จากสาขาและฐานลูกค้าที่มีอยู่
สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกัน ผลตอบแทนลดลงจากการลดเพดานดอกเบี้ยจาก 28%เหลือ 25% แต่ความเสี่ยงสูงขึ้น และธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ธุรกิจที่เพิ่งเข้ามาเมื่อปลายปี 2563 ปีนี้จะมุ่งขยายตลาดเป็นหลัก เน้นการทำตลาดผ่านระบบออนไลน์ ตั้งเป้ายอดสินเชื่อประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ และให้ผลตอบแทนรวดเร้ว
นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บริษัทบัตรกรุงไทย กล่าวว่า บริษัทปรับเกมรับลูกค้าเพิ่มขึ้นเน้นคุณภาพ ในไตรมาส 1 ปีนี้ยังไม่พบหนี้เสียผิดปกติ การใช้จ่ายของลูกค้าเพิ่มขึ้น เดือนม.ค.ไม่ได้ติดลบมากอย่างที่คาด ปีนี้น่าจะทำให้สำรองลดลง
ส่วนการซื้อหุ้นบริษัทกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่งถึง 75.05% จากธนาคารกรุงไทย จะต้องใช้เวลาดำเนินการ ขอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติวันที่ 8 เม.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติการโอนหุ้น และจะต้องมีการประชุมร่วมกับธนาคารกรุงไทยอีกหลายครั้ง ดังนั้นในปีนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้และกำไรให้บริษัทมากน้อยแค่ไหน โดยแนวทางการดำเนินธุรกิจ บริษัทจะใช้จุดแข็งดูแลลูกค้ารายย่อย ที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยได้มีการปล่อยสินเชื่อลีศลิ่งเครื่องจักร และมีฐานลูกค้า สาขาช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะยาวได้
ส่วนแผนการระดมเงินในปีนี้ บริษัทจะออกตราสารหนี้เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะหมดอายุมูลค่า 9,000 ล้านบาท และอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อการเติบโต ปัจจุบันบริษัทออกตราสารหนี้ระยะสั้นในรูปตั๋ว P/N และ B/E ดอกเบี้ยต่ำไม่ถึง 1%ต่อปี บริษัทจึงจัดพอร์ตเงินกู้เป็นระยะสั้น 30% ช่วยลดต้นทุนทางการเงินที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2.65%ต่อปี คาดว่าในปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐจะเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าคิวอียังมีอยู่ต่อไปไม่ได้ลดลง
” เรามีเรทติ้งและผลดำเนินงานที่ดี ทำให้ต้นทุนการเงินต่ำลง ถือโอกาสจัดพอร์ตเงินกู้ และขยายการลงทุน เพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นในปี 2565 หรือปี 2566 พร้อมขยายบริการธุรกิจสินเชื่อทันกับความต้องการของลูกค้า”นายชุติเดชกล่าว
นอกจากนี้ การที่บริษัทประกาศว่าจะซื้อหุ้นบริษัทกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง นักลงทุนรวมถึงผู้ถือหุ้นต่างชาติของบริษัทมองเป็นบวก เชื่อว่าจะมีโอกาสเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น หลังจากต่างชาติขายออกไปมากเมื่อปี 2562 จนสัดส่วนเหลือเพียง 3% เศษ และเริ่มกลับเข้ามาลงทุน เพิ่มเป็น 9.62% เมื่อสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา
ด้านราคาหุ้นวันที่ 12 มี.ค. ปิดที่ 72.75 บาท บวก 1 บาทหรือ 1.39% นักวิเคราะห์ 8 รายไม่มีรายใดแนะนำซื้อ กลับแนะนำให้ขายถึง 5 ราย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมายที่ให้ไว้ เช่น บล.หยวนต่าให้เป้าหมายเพียง 43 บาท แม้คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะเติบโต 14.6% เป็น 6,113 ล้านบาทก็ตาม เพราะราคาที่ร้อนแรงมากเกินไปเทียบกับการฟื้นตัวของผลประกอบการ ทำให้มูลค่ามีโอกาสลดลงสูงถึง 36.3% และซื้อขายที่ P/BV ถึง 8.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อยนหลัง 5 ปีที่ 7.5 เท่า และสูงสุดเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ขนาดใหญ่ จึงคงคำแนะนำขาย จนกว่าจะเห็นการขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มพี่เบิ้ม หรือลีสซิ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนับยสำคัญ
บล.แลนด์แอนด์เฮ้าส์วิเคราะห์ว่าการซื้อหุ้นบริษัทกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง เพิ่มธุกิจที่มีหลักประกัน ผลตอบแทนดี ชดเชยธุรกิจหลักไม่มีหลักประกัน ถูกคุมดอกเบี้ย คาดดีลซื้อขายหุ้นจบปลายปี ยังไม่สร้างรายได้ในปีนี้ คาดว่ากำไรสุทธิในปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะกลับมาเติบโต 7.8% เป็น 5,728 ล้านบาทในปี 2565 หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตชัดเจนอีกครั้ง แต่ราคาสูงจึงแนะนำขายหุ้นออกไปก่อนเพื่อล็อกกำไร