โดย…..สุนันท์ ศรีจันทรา
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บริษัทโบรกเกอร์หลายแห่ง ออกบทวิเคราะห์ตามมาทันที หลังจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ประกาศขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัดในสัดส่วน 65% ของทุนจดทะเบียน หรือ 6.5 ล้านหุ้น โดยให้ความเห็นในแนวทางเดียวกันว่า จะไม่มีผลกระตุ้นราคาหุ้น TMB เท่าใดนัก
TMB ถือหุ้นใน บลจ.ทหารไทย 100% และจะตัดขายจำนวน 65% ให้ บริษัท อีสท์สปริง อินเวสต์เมนทส์ (สิงคโปร์) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย จำกัด และในอนาคตจะขายอีก 35%ที่เหลือ โดยยังไม่ได้กำหนดราคาซื้อขายหุ้น
บลจ.ทหารไทย มีสินทรัพย์ภายใต้การบริการบริหารจำนวนทั้งสิ้นกว่า 4.2 แสนล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 5 ของบริษัทจัดการกองทุนรวมทั้งระบบ ซึ่ง TMB ให้เหตุผลการขายว่า จะช่วยให้นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ดีเยี่ยมกับลูกค้าของธนาคารได้
ประมาณการราคาเป้าหมายหุ้น TMB ไม่ได้ถูกปรับขึ้นแต่อย่างใด และคงเป้าหมายระหว่าง 2.40 – 2.60บาท โดยบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ระบุว่า การขายบลจ.ทหารไทย จะมีผลบวกในระยะสั้นเท่านั้น แต่ในระยะยาว TMB ต้องหารายได้ชดเชยรายได้ที่สูญหายจาก บลจ.ทหารไทย ซึ่งปี 2560 ได้รับเงินปันผลประมาณ 125 ล้านบาท
เบื้องหลังหลังการขายบริษัทลูกในครั้งนี้ เป็นที่คาดหมายว่า TMB ต้องการลดความพะรุงพะรังในโครงสร้างของธนาคาร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเจรจากับพันธมิตรที่สนใจจะร่วมทุนกับธนาคาร แต่การเจรจาติดขัดปัญหาเรื่องราคา ซึ่งบวกราคา บลจ.ทหารไทยไปด้วย ขณะที่พันธมิตรใหม่บางรายไม่สนใจ บลจ.
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารธนาคารทหารไทยไม่สะดวกเหมือนธนาคารอื่น เพราะกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ 25.92% และแม้มีการเจรจาของซื้อหุ้นจากกระทรวงการคลังมาเป็นระยะ แต่ไม่เคยปิดเงื่อนไขการเจรจาได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะราคาหุ้นยังไม่เป็นที่พอใจของแต่ละฝ่าย
หุ้นธนาคารทหารไทยในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ขึ้นสูงสุดที่ 3.14บาท ต่ำสุดที่ 2.16 บาท ปิดล่าสุดที่ 2.26 บาท โดยราคาไม่ได้ตอบรับกับข่าวการขายหุ้นบลจ.ทหารไทยมากนัก โดยก่อนหน้าทรุดลง หลังประกาศผลดำเนินงานไตรมาสที่สองปีนี้ ซึ่งมีกำไรสุทธิ 2,026.25 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,329.53 ล้านบาท
ผู้ถือหุ้นรายย่อย TMB มีจำนวนทั้งสิ้น 65,218 ราย ค่าพี/อี เรโชธนาคารแห่งนี้อยู่ที่ 11.17 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 2.65% โดยปัจจัยพื้นฐานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับหุ้นกลุ่มธนาคาร เพียงแต่กำไรไตรมาสสองอาจไม่ดี และมีความกังวลปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล เช่นเดียวกับธนาคารอื่นๆ
ในอดีตบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน มีความสำคัญกับธนาคาร เพราะจะทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างครบวงจร มีธุรกิจบริหารจัดการกองทุนเป็นทางเลือกให้ลูกค้าธนาคาร แต่ปัจจุบัน การมีบลจ. เป็นเครือข่ายมีความสำคัญน้อยลง เช่นเดียวกับบลจ. ซึ่งมีช่องทางการขายหน่วยลงทุนที่หลากหลาย สามารถสร้างฐานลูกค้าได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาธนาคารบริษัทแม่มากนัก
การตัดขาย บลจ.ทหารไทย จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความสามรารถการแข่งขันของ TMB มากนัก แต่ก็ไม่ได้เป็นผลบวกต่อการดำเนินงานที่มีนัยสำคัญต่อราคาหุ้น เพียงแต่อาจสร้างเงื่อนไขในการเจรจากับกลุ่มพันธมิตรที่จะเจรจาซื้อหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่
ข่าวดีหุ้น TMB จะมีจริงๆ เมื่อการเจรจาหาพันธมิตรใหม่บรรลุเป้าหมายเท่านั้น ตอนนี้ว่ากันด้วยผลประกอบการไปก่อน
****************
ติดตามข่าว หุ้นเด่น ประเด็นร้อน #HoonSmart #หุ้นสมาร์ท ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/HoonSmart
Line : https://line.me/R/ti/p/%40hoonsmart.com