BAM สรุปผลศึกษาตั้งโฮลดิ้งปลายปี 64 spin-off ลูกเข้าตลาดหุ้น

HoonSmart.com>>”บัณฑิต อนันตมงคล” แม่ทัพคนใหม่ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ ประกาศปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจ จ้างที่ปรึกษากลายร่าง BAM เป็นโฮลดิ้ง แก้อุปสรรคใต้พรบ. AMC เพิ่มความคล่องตัว  แตกบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น เลิกสะสมทรัพย์ ใช้ดิจิทัลช่วย  ลดเวลาคืนทุนเพิ่มกำไร  บอร์ดใจดี ปันผล 90% ของกำไรปี 63 ให้ผู้ถือหุ้นได้ผลตอบแทนมากกว่า 2% เป้าปี 64 หวังรายได้  1.74 หมื่นล้าน  ปี 68 กระโดดขึ้น 2.4 หมื่นล้าน 

บัณฑิต อนันตมงคล

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM)เปิดวิสัยทัศน์ครั้งแรกภายหลังจากเข้ามารับตำแหน่งว่า มีเป้าหมายให้ BAM คงความเป็นผู้นำธุรกิจบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพลิกฟื้นสินทรัพย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ในระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้ลูกหนี้ได้มีที่อยู่อาศัย หรือที่ทำกินกลับคืนไป หรือสามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับเป็นหนี้ที่มีคุณภาพกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติ รวมทั้งบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ให้มีสภาพดี พร้อมขายในราคาที่เป็นธรรม และยังเป็นการกระตุ้นให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสองเติบโตต่อไปอีกด้วย

ปัจจุบัน BAM มี NPLs จำนวน 85,102 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 484,881 ล้านบาท โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท และ NPA จำนวน21,574 รายการ ราคาประเมินมูลค่า 62,571 ล้านบาท คิดเป็นต้นทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

อย่างไรก็ตาม BAM จะทำธุรกิจเหมือนเดิมต่อไปไม่ได้ เช่นเคยซื้อทรัพย์สูงสุด 1.3 หมื่นล้านบาท ราคาประเมินสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท หากเศรษฐกิจดีก็จะมีกำไรเกือบ 200% ในอนาคตบริษัทจะยกระดับหรือต่อยอดของธุรกิจเดิม มองหาโอกาสใหม่ ด้วยกลยุทธ์ระยะสั้นและยาว พร้อมปรับมุมมองในการบริหาร เน้นซื้อทรัพย์ในกลุ่มที่จะทำให้ BAM เติบโตได้ ลดการสะสม และใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยในการเพิ่มคุณภาพในการบริหารและบริการ เร่งพัฒนาระบบงาน IT มุ่งสู่ BAM Digital Enterprise และเสริมศักยภาพบุคคลากร

นอกจากนี้ยังมีการว่าจ้างที่ปรึกษา ในการศึกษาการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งส์ คาดว่าะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ เพราะการอยู่ภายใต้พรบ.บริหารสินทรัพย์ มีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ ในการขยายหรือต่อยอด นอกจากนี้ยังสามารถนำธุรกิจที่แข็งแกร่งมาจัดตั้งบริษัทในเครือ สามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยลดการพึ่งพาเงินทุนจาก BAM ลง และบริษัทในเครือสามารถบริหารงานต่างๆ อย่างเต็มที่

“วันนี้เราอยู่ภายใต้พรบ.AMC จะทำอะไรเพิ่มก็ติดกฎเกณฑ์ ถ้า BAM เป็นโฮลดิ้งแล้ว Spin-off บริษัทลูกออกมา ก็จะทำให้ BAM มีศักยภาพเติบโตมากขึ้น  เรามีความสามารถและเห็นโอกาส อยากทำหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริหารและติดตามหนี้ เหมือนบริษัทอื่นที่อยู่ในตลาด  แต่ตอนนี้ทำไม่ได้ และธุรกิจเกี่ยวกับการรับจ้างออกแบบ ซึ่งทีมงานมีความสามารถในการรีโนเวททรัพย์ต่างๆ ก็สามารถต่อยอดธุรกิจไปได้มากขึ้น”นายบัณฑิต กล่าว

สำหรับเป้าหมายในปี 2564 ตั้งงบลงทุนซื้อสินทรัพย์ NPL และ NPA เข้ามาบริหารจัดการไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท คาดผลเรียกเก็บ 17,452 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนมีรายได้ 1.24 หมื่นล้านบาท โดยการประมูลซื้อจากสถาบันการเงินต่างๆ และการขายทอดตลาดที่กรมบังคับคดี แม้ธนาคารพาณิชย์จะมีการขายออกมาน้อยลงก็ตาม ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ในระยะ 5 ปี (2564-2568)  โดยในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ที่ 1.74 หมื่นล้านบาท ล้านบาท ปี 2565 ตั้งเป้า 1.89 หมื่นล้านบาท ปี 2566 ตั้งเป้า 2.05 หมื่นล้านบาท ปี 2567 ตั้งเป้า 2.21 หมื่นล้านบาท และปี 2568 ตั้งเป้า 2.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนผลงานในปี 2563 บริษัทมีกำไร 1,840 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 10,679 ล้านบาท  เพราะหลายปัจจัย เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทใช้เวลาในการคุ้มทุนช้าลงเป็น 7 ปี จากที่เคยอยู่ที่ 5-6 ปี ซึ่งหวังว่าจะลงมาอยู่ที่ 4-5 ปี หลังจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการจำหน่ายทรัพย์ให้เร็วขึ้น คัดทรัพย์มาทำรายการพิเศษกว่า 3,000 รายการ พร้อมคัดทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีมูลค่าสูง และทรัพย์เพื่อนักลงทุนรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อซ้ำ รวมทั้งทรัพย์สำหรับกลุ่ม SME และ Start Up นำเสนอขายพร้อม Solution พร้อมเพิ่มฐานลูกค้าที่ซื้อแบบผ่อนชำระกับบริษัทไม่น้อยกว่า 1,000 ราย ภายในปี 2564

” กำไรที่ลดลงในปี 2563 แต่ผู้ถือหุ้นยังได้รับผลตอบแทนที่ดี บอร์ดได้อนุมัติให้จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.5125 บาท คิดเป็นประมาณ 90% ของกำไรสุทธิต่อหุ้นที่ 0.57 บาท ขณะที่นโยบายของบริษัทกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 40% เพื่อตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นมากกว่า 2.4% ต่อปี สำหรับผู้ที่มีชื่อในทะเบียนวันที่ 7 พ.ค. ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 6 พ.ค. จ่ายเงินวันที่ 25 พ.ค. 2564″ นายบัณฑิตกล่าว

ด้านราคาหุ้น BAM ปิดที่ 21.10 บาท -0.50 บาทหรือ -2.31% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,459 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564