ก่อนหน้านี้มอร์นิ่งสตาร์ได้เคยพูดถึงเม็ดเงินกองทุนยั่งยืนทั่วโลกว่ามีการเติบโตสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หากมองกลับมาที่ประเทศไทยถือได้ว่ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นกัน โดยเมื่อ 31 ธันวาคม 2020 มูลค่าทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 4 เท่าจากปี 2019 ที่มีมูลค่ารวมราว 5 พันกว่าล้านบาท ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามูลค่าทรัพย์สินรวมเพิ่มขึ้นไปที่ 3.4 หมื่นล้านบาท
การเติบโตที่ยังสูงต่อเนื่องของมูลค่าทรัพย์สินกองทุนยั่งยืนนั้นมีสาเหตุหลักมาจากเม็ดเงินไหลเข้าหลายกองทุนเปิดใหม่ที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยกองทุนยั่งยืนมีเม็ดเงินไหลเข้าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ช่วงปี 2019 ที่ระดับ 3.1 พันล้านบาท และสูงขึ้น 5 เท่าในปี 2020 ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินไหลเข้าถึง 1.1 หมื่นล้านบาทเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2021
ด้านทรัพย์สินที่ลงทุนนั้นมูลค่าการลงทุนยังกระจุกตัวที่กองทุนต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีมูลค่ารวมสูงสุดในกลุ่ม Global Equity หรือ 63.5% ของมูลค่ากองทุน ESG ทั้งหมด และมีเพียง 4.1% เป็นการลงทุนหุ้นในประเทศกลุ่ม Equity Large-Cap ทั้งนี้อาจเกิดจากการลงทุนกองทุนยั่งยืนที่มีการเติบโตที่ดีในต่างประเทศ มีตัวเลือกการลงทุนหลากหลาย รวมทั้งมี track record ของกองทุนในแง่ผลการดำเนินงาน ในขณะที่การลงทุน ESG อาจยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทยและยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในช่วงที่กำลังพัฒนาที่จะนำไปสู่มาตรฐานที่ดีขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน
สำหรับเม็ดเงินกองทุนยั่งยืนที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มกองทุนต่างประเทศนั้น มีกองทุน ESG ขนาดใหญ่ 3 อันดับแรกซึ่งมีการลงทุนในกองทุนหลัก (master fund) คือ Baillie Gifford Positive Change, BGF Sustainable Energy และ Janus Henderson Horizon Global Sustainable Equity โดยทั้ง 3 กองทุนระบุว่าแนวทางการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
หากมองในแง่ของผลตอบแทนจะพบว่าทั้ง 3 กองทุน master fund ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ในช่วงต้นปี 2020 แต่กองทุน Baillie Gifford Positive Change มีผลตอบแทนที่พุ่งขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกองทุนนี้มีการถือหุ้น Tesla ที่สูงสุดเกือบตลอดทั้งปี รวมทั้งเน้นหุ้นที่มีการเติบโตสูง อย่างไรก็ตามกองทุนนี้มีคะแนนด้านความยั่งยืนหรือ Morningstar Sustainability Rating™ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอีก 2 กองทุน เนื่องจากมีการลงทุนในหุ้นที่มีคะแนนความเสี่ยง ESG ที่ระดับ High และ Severe ในสัดส่วนการลงทุนที่สูงกว่าอีก 2 กองทุน
ปัจจุบันการลงทุนอาจไม่ใช่เพียงการสร้างผลตอบแทนที่สูงเพียงอย่างเดียว หากมีการคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ก็จะช่วยให้มีการพิจารณาความเสี่ยงจากการลงทุนที่รอบด้านมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การลงทุน ESG จะยังคงเป็นเทรนด์ที่เติบโตได้ และในอนาคตจะยังมีกองทุนเปิดใหม่จากหลายบลจ.ให้เลือกลงทุนมากขึ้น สำหรับนักลงทุนที่สนใจสามารถดูรายชื่อกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับตาม Morningstar Sustainability Rating™ ได้ที่ https://bit.ly/3rfUTxg
หมายเหตุ
1 ข้อมูลในบทความนี้เป็นข้อมูลของกองทุนรวมในประเทศไทยที่มีการระบุว่าเป็นการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในเอกสารการลงทุน
2 ข้อมูลการจัดอันดับ Morningstar Sustainability Rating™ ของกองทุนมีการอ้างอิงคะแนน ESG Score รายบริษัทจาก Sustainalytics