exHoonSmart.com>> “เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง” เปิดงบไตรมาส 4/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 20.9 ล้านบาท พิษโควิดฉุดยอดขาย รายได้รวมลดกว่า 24% ส่วนทั้งปี 63 กำไรสุทธิ 242.62 ล้านบาท ลดลง 33.8% จากปีก่อน บอร์ดเคาะจ่ายปันผลอัตรา 0.10 บาท ขึ้น XD 15 มี.ค.นี้ ด้านบล.เอเซีย พลัส อยู่ระหว่างทบทวนประมาณการหุ้น TKN หลังขาดทุนครั้งแรกกดดันราคาหุ้น แนะเลี่ยงลงทุน
บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง (TKN) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2563 มีกำไรสุทธิ 242.62 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.18 บาท ลดลง 33.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 366.24 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.26 บาท
สำหรับงวดไตรมาส 4/2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 20.9 ล้านบาท ลดลง 117.7% จากงวดปีก่อนกำไรสุทธิ 117.8 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากการขายเหลือจำนวน 882.9 ล้านบาท ลดลง 37.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อนและลดลง 9.8% จากไตรมาสก่อนหน้า และมีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 3,983.1 ล้านบาท ลดลง 24.4% จากปีก่อน ผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของรายได้จากการขายในประเทศและมาตรการปิดห้างสรรพสินค้าหรือห้ามบุคคลภายนอกเคหสถานตามเวลากำหนดในหลายประเทศ เช่น ไทย อินโดนีเซีย จีนและสหรัฐฯ
คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้จ่ายเงินปันผลจากผลดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค.2563-31 ธ.ค.2563 ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) วันที่ 16 มี.ค. 2564 ขึ้น XD วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล 15 มี.ค.2564 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 7 พ.ค.2564
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส อยู่ระหว่างทบทวนประมาณการหุ้น TKN หลังไตรมาส 4/63 เผชิญผลขาดทุนสุทธิครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนใน SET ที่ 20.9 ล้านบาท เนื่องจากมีรายการพิเศษจากการรวมโรงงานผลิต, ค่าเผื่อบรรจุภัณฑ์เสื่อมสภาพและการขายสินค้าราคาพิเศษก่อนปิดสาขาเถ้าแก่น้อยแลนด์ รวมกันประมาณ 30 ล้านบาท หากไม่รวมกำไรปกติราว 12.6 ล้านบาท (-84% QoQ, – 91% yoy) ถูกกดดันจากยอดขายชะลอตัว 10% qoq ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ผลกระทบจาก COVID-19 และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน โดยยอดขายอ่อนลงมาก ทำให้ Gross Margin (ไม่รวมรายการพิเศษข้างต้น) ลงมาที่ 23.8% จาก 27.1% ในงวดก่อน และสัดส่วน SG&A/Sales เร่งตัวเป็น 23.1% จาก 17.2% ในงวดก่อน
ส่วนกำไรสุทธิปี 2563 เท่ากับ 242.6 ล้านบาท หากไม่รวมรายการพิเศษข้างต้นและกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน กำไรปกติต่ำคาด 34% และหดตัว 31% yoy ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 เท่ากับ 272 ล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มปี 2564 ยังเชื่อว่ามีโอกาสฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ เนื่องจากรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้เกิดขึ้นในปี 2563 แล้ว (เช่น การปิดสาขา เถ้าแก่น้อยแลนด์จำนวน 18 สาขา ในปี 2563) อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวยังขึ้นอยู่กับยอดขายในประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก ซึ่งขึ้นอยู่กับความเร็วในการกระจายวัคซีน COVID-19 และการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่ประเด็นตู้คอนเทนเนอร์ มองเป็นปัจจัยชั่วคราว โดยฝ่ายวิจัยจะนำเสนอข้อมูลอีกครั้งหลัง Opp day วันที่ 4 มี.ค.64 นี้
การดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าฝ่ายวิจยและตลาดคาด มองว่าอาจเป็นแรงกดดันต่อราคาหุ้นไปสักระยะ แนะนำ หลีกเลี่ยงลงทุน