SCBAM : “จับตาสภาผู้แทนฯ โหวตลงมติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง หลัง Bond yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นแตะ 1.4% สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2020 ท่ามกลางความคาดหวังเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากปัจจัยบวก ดังนี้ 1) ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกชะลอตัวลงต่อเนื่องนานสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด และ 2) แผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้ หากสภาคองเกรสเห็นชอบแผนมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจผลักดันให้ Bond yield ปรับเพิ่มขึ้นแรงอีก และเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ตลาดหุ้นปรับฐาน

สภาผู้แทนฯ จะมีการโหวตลงมติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 26 ก.พ. นี้ หากสภาผู้แทนฯ เห็นชอบก็จะถูกส่งต่อให้วุฒิสภาออกเสียง และให้ปธน. ลงนาม ภายในวันที่ 14 มี.ค. เพ่ือให้ทันกับสวัสดิการว่างงานพิเศษซึ่งจะหมดอายุในวันเดียวกัน โดยในรายละเอียดของแผนจะมีการเพิ่มวงเงินให้เปล่าอีกคนละ 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ, เพิ่มสวัสดิการว่างงานพิเศษเป็น 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อสัปดาห์ และขยายระยะเวลาการให้จนถึงเดือน ก.ย. อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง (จากปัจจุบันที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง) ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะผ่านได้ที่มูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ดัชนี Composite PMI เบื้องต้นเดือน ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเทศหลัก นำโดยดัชนีรวมสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 จุด เป็น 58.8 จุด ดัชนีรวมยูโรโซน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4 จุด เป็น 48.1 จุด ดัชนีรวทญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด เป็น 47.6 จุด สะท้อนพัฒนาการของการแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนในยุโรปและญี่ปุ่นยังค่อนข้างล่าช้ากว่าสหรัฐฯ และอังกฤษอย่างมาก

จับตาการประชุม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 3-4 มี.ค. โดยขณะน้ีซาอุฯ และรัสเซีย มีความเห็นต่างกันเรื่องการลดกำลังการผลิต ซึ่งมี่ความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันดิบอาจผันผวนในระยะอันใกล้

จับตาการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ในวันที่ 5 มี.ค. เพื่อกำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าตัวเลขเศรษฐกิจปี 2021 ซึ่งคาดว่านโยบายการเงินและการคลังจะมีความผ่อนคลายลดลง

กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดหุ้นไทย : แนะนำคงน้ำหนักการลงทุน
ตลาดหุ้นเกาหลี : แนะนำคงน้ำหนักการลงทุน
ตลาดหุ้นจีน : คงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีน A-Shares
ตลาดหุ้นยุโรป : แนะนำคงน้ำหนักการลงทุน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ : แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุน
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น : แนะนำคงน้ำหนักการลงทุน
ตราสารหนี้ไทย : แนะนำเพิ่มการลงทุนในตลาดเงิน
ตราสารหนี้ต่างประเทศ : แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน SCBUSHY, SCBFIN
ทองคำ : ปรับคำแนะนำจาก “คงน้ำหนักการลงทุน” เป็น “ลดน้ำหนักการลงทุน”
น้ำมัน : แนะนำคงน้ำหนักการลงทุน