บล.กสิกรฯให้แนวรับ 1480,1460 หลังค่าเงินอ่อนต่ำกว่า 30 บาท

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์หน้าแกว่งขึ้นไม่เกิน 1,525 จุด ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อ สถานการณ์โควิด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ด้านธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบค่าเงินบาท 29.80-30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยลบดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (1-5 มี.ค.) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,480 และ 1,460 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,510 และ 1,525 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรรวมถึงอัตราการว่างงานเดือนก.พ. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนก.พ. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. และยอดค้าปลีกเดือนม.ค. ของยูโรโซน

หุ้นปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,496.78 จุด ลดลง 0.25% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 99,088.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.40% ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.40% มาปิดที่ 379.07 จุด

หุ้นเคลื่อนไหวผันผวน ช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับแรงขายในตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนี SET ดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆ ก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟด ก่อนจะเผชิญแรงขายอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ อย่างไรก็ดี หุ้นฟื้นตัวกลับได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ขานรับถ้อยแถลงของประธานเฟด ที่ระบุจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง แต่กรอบการปรับขึ้นถูกจำกัดจากการปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยของดัชนี MSCI ซึ่งมีผลในวันที่ 25 ก.พ.2564

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (1-5 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหว ที่ 29.80-30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทขยับกลับมายืนในฝั่งอ่อนค่ากว่าแนว 30.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ท่ามกลางความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดีแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ตามสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินจากถ้อยแถลงของประธานเฟด แต่เงินบาทก็กลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่บันทึกยอดขาดดุลในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา

ในวันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.12 เทียบกับระดับ 29.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 ก.พ.)

 
 
อ่านข่าว

ดาวโจนส์ปิดร่วง 559 จุด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีพุ่ง