4 โบรกชี้เป้า PACO 1.65-1.50 บาท จุดแข็ง โตแกร่ง อนาคตไกล

HoonSmart.com>>”เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ “ผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศรถยนต์ทดแทนทั่วโลก เตรียมเปิดขาย IPO จำนวน 260 ล้านหุ้น บล.คิงส์ฟอร์ด ให้ราคาเหมาะสม 1.65 บาท คาดกำไรเติบโตเฉลี่ย 55.7% ใน 3 ปี (2563-2565) บล.หยวนต้า ตีมูลค่า 1.64 บาท บล.อาร์เอชบีให้เป้า 1.55 บาท บล.เคทีบีเอสที ประเมินราคาเหมาะสมที่ 1.50 บาท

บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์ (PACO ) ผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศรถยนต์ทดแทน (REM) ให้แก่ลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ เตรียมเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 260 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) ในเดือนมี.ค.2564

บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำ ได้แก่ บล.คิงส์ฟอร์ด (ประเทศไทย) ได้ให้ราคาเป้าหมาย PACO ที่ 1.65 บาท บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 1.64 บาท บล.อาร์เอชบี ให้ราคาที่ 1.55 บาท และบล.เคทีบีเอสที ประเมินราคาเหมาะสมที่ 1.50 บาท

บล.คิงส์ฟอร์ด (ประเทศไทย) วิเคราะห์จุดแข็งของ PACO ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ รถยนต์ทดแทนให้แก่ลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์ครอบคลุมถึงทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ ยุโรป อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย มีจุดเด่นสำคัญที่เหนือกว่าคู่แข่ง คือ ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ PACO มีคุณภาพสูงและมีจำนวนรุ่นที่หลากหลายถึง 2,600 รุ่น ครอบคลุมรุ่นรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งเทคโนโลยีการผลิตทันสมัย สามารถผลิตและจำหน่ายได้ตามความต้องการของลูกค้า ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง คาดกำไรเติบโตเฉลี่ย 55.7% ใน 3 ปี (2563-2565)

วัตถุประสงค์ของการระดมทุน เพื่อชำระคืนหนี้ ขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2564 อิง P/E 17 เท่า อยู่ที่ 1.65 บาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 90% ของรายได้รวม

ส่วนกำไรที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยถึง 55.7% ในช่วง 3 ปีนี้  โดยมี 4 ปัจจัยหนุนได้แก่ 1. ตลาด REM ยังสามารถเติบโตได้ดีแม้อยู่ในสภาวะโควิด  2. การขยายฐานตัวแทนจำหน่ายจากโครงการ PACO Auto Hub  3.การขยายฐานลูกค้าในประเทศมาเลเซีย และ 4.รักษาความสามารถในการทำกำไรได้โดดเด่นกว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

ฝ่ายวิจัยประมาณการรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ในปี 2563-2565 เติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 10.7% มาจากโครงการ PACO AutoHub ซึ่งเป็นการสร้างฐานตัวแทนจำหน่าย และคำคำสั่งซื้อใหม่จากกลุ่มลูกค้า OES นอกจากนี้ยังมีการประมูลโครงการใหม่จากส่วน OES และ OEM ที่คาดว่าจะได้รับเพิ่มเติมในครึ่งหลังของปี 2564 รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าและขยายตลาดในประเทศมาเลเซีย ประกอบกับต้นทุนแรงงานที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังติดตั้งเครื่องจักรอัตโนมัติทดแทน คาดอัตรากำไรขั้นต้น ในปี 2564-2565 อยู่ที่ 24.50-25.00% โดยประเมินกำไรสุทธิในปี 2563 อยู่ที่ 76.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 147.91%จากปี 2562 ส่วนในปี 2564-2565 จะเติบโตต่อเนื่องเป็น 97.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.81%  และ 115.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.15%

นอกจากนี้  การระดมทุนเสนอขายหุ้น IPO  ยังช่วยให้ PACO มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น สัดส่วนหนี้สินต่อทุนหรือ D/E จะลดลงจาก 1.18 เท่า ในไตรมาสที่ 3/2563 เหลือ 0.57 เท่า ในปี 2564 มีสภาพคล่องและกระแสเงินสดเพียงพอต่อการลงทุนในอนาคต

สำหรับการประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2564 อิง P/E 17 เท่า อยู่ที่ 1.65 บาท ฝ่ายวิจัยเลือกใช้วิธี P/E ในการประเมินมูลค่าเปรียบเทียบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกับ PACO ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai มีค่าเฉลี่ย P/E ในอดีตช่วงปี 2560-2562 (ก่อนโควิด-19) ที่ 17 เท่า อีกทั้งมองว่า PACO ควรจะซื้อขายในระดับ Premium เหนือกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ซึ่งซื้อขายกันที่ Forward P/E ปี 2564 เฉลี่ยที่ 13 เท่า เนื่องจากส่วนใหญ่พึ่งพิงรายได้จากกลุ่มลูกค้า OEM เป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังพิจารณาบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกับของบริษัท PACO  พบว่ามี Forward P/E ปี 2564 เฉลี่ยที่ 17 เท่า แม้มูลค่าตลาดจะใหญ่กว่าและดำเนินธุรกิจหลากหลาย แต่มองว่ามีความเหมาะสมในการใช้เป็นตัวเปรียบเทียบ ดังนั้นจึงประเมินมูลค่าโดยเลือกใช้ P/E ที่ระดับ 17 เท่า ได้ราคาเหมาะสมปี 2564 ที่ 1.65 บาท