ทบ.ชงนายก ฯ 31 มี.ค.นี้ ดัน “เมกะ โซลาร์ฟาร์ม” 30,000 เมกก์

ทบ.-กฟผ. รวบรวมข้อมูล  “เมกะ โซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกกะวัตต์” ชงนายก ฯ 31 มี.ค.นี้ ยกไทยขึ้นเป็น “ฮับโซลาร์ฟาร์มแห่งอาเซียน” สร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและพลังงานของชาติ  พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ ตัวแทนทบ.เผยเปิดทางเอกชนใหญ่-เล็ก ร่วม ปตท. พร้อมลงทุนเอื้อโรงงานแบตเตอรี่ GPSC

พล.ท. รังษี กิติญาณทรัพย์

พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ในฐานะตัวแทนกองทัพบก (ทบ.) เปิดเผยว่า หลังจากทบ.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การศึกษาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก โดยใช้ที่ดินในความดูแลของทบ.ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 4.5 ล้านไร่ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในด้านเกษตรกรรมและพลังงาน ผลักดันโครงการ “เมกะโซลาร์ฟาร์ม 30,000 เมกกะวัตต์”  ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ หากนายก ฯ เห็นด้วยจึงนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

สำหรับเมกะโซลาร์ฟาร์มดังกล่าว จะเป็นฮับพลังงานสะอาดของอาเชียน  ช่วยสร้างความมั่นคงเศรษฐกิจและพลังงานของชาติไทย นับเป็นก้าวสำคัญที่จะร่วมกันเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ล่าสุด มีผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน กว่า 30 บริษัทขนาดใหญ่  อาทิ ปตท. ( PTT) บริษัท ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ติดต่อเข้าขอรับทราบรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมแสดงเจตจำนงเข้าร่วมลงทุน “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” รวมถึงลงทุนในอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ครบวงจร ทั้งการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ อุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการลดต้นทุน

สำหรับ โครงการ”เมกกะโซลาร์ฟาร์ม” ขนาดติดตั้ง 30,000 เมกะวัตต์ในครั้งนี้ กองทัพบกร่วมกับ กฟผ. อยู่ในขั้นตอนการสำรวจพื้นที่ที่อยู่ในความปกครองของกองทัพบก เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม สำหรับทำโซลาร์ฟาร์ม เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่ และจะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 6 แสนล้านบาท

นำร่องเฟสแรกพื้นที่ 3,000 ไร่  จำนวน 300 เมกกะวัตต์  พื้นที่ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีความเหมาะสมในการทำโซลาร์ฟาร์ม , เป็นเขตเศรษฐกิจพุน้ำร้อน และมีสายส่งข้ามไปถึงพม่าได้  ใช้เงินลงทุน 6,000-7,000 ล้านบาท โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน และพร้อมเตรียมจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ ต่อไป

สำหรับการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการ เมกะโซลาร์ฟาร์ม” ต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการคือ มีแบงก์การันตี 100% เพื่อป้องกันการเปลี่ยนมือ , ใช้เวลาสร้าง 2 ปี และหลังจากจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ( COD ) แล้ว 3 ปี ห้ามขายต่อ

พล.ท.รังษี กล่าวว่า โครงการ “เมกะโซลาร์ฟาร์ม”  ประเทศและประชาชน จะได้รับผลประโยชน์จากค่าไฟฟ้าที่ลดลง จากเดิม 3.5 บาท เหลือ 2.50 บาท  , ประเทศจะลดการขาดดุลในการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการนำเข้าก๊าซและถ่านหิน ประมาณปีละ 700,000-800,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบ 8 เท่า เนื่องจาก ผู้ที่ได้รับสัมปทาน ต้องซื้อวัสดุในการสร้างโซลาร์ฟาร์ม ในพื้นที่ที่ได้รับสัมปทาน และยังเป็นการสร้างอาชีพ ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล  ช่วยเกษตรกรไทยในการจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยใช้วิธี Barter Trade กับประเทศที่จำหน่ายเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ นำสินค้าเกษตรของไทยไปแลกกับอุปกรณ์อุปกรณ์โซลาร์ฟาร์ม ในมูลค่าเท่ากัน คิดเป็นเงินประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท

“ ผมเชื่อว่า หากโครงการนี้ดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ยัส่งผลต่อการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย และจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ทะยานทะลุ 2,000 จุด ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกด้วย” พลโท รังษี กล่าว

ส่วนโครงการด้านการเกษตรในพื้นที่กองทัพบกนั้น โครงการแรกจะใช้พื้นที่กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 กรมการสัตว์ทหารบก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ มาดำเนินโครงการมันสำปะหลังสะอาด และพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อพัฒนาชีวิตคนในพื้นให้มีคุณภาพ