BGC ซื้อ 3 กิจการ 2.55 พันลบ. รายได้โต 35% ปี 68 แตะ 2.5หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>”บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส” มุ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร งบลงทุนปี 64 ที่ 2.55 พันล้านบาท แบ่งซื้อ 2 กิจการเริ่มรับรู้รายได้เดือน พ.ค.นี้  ส่วน อีก 1 ดีลชัดเจนในไตรมาส 1 ดันรายได้ปี 64 โต 35% เพิ่มสัดส่วนส่งออกต่างประเทศ 12% มองหาประเทศที่มีมาร์จิ้นดี ราคาวัตถุดิบผลิตแก้วลดลง  เป้าใหญ่รายได้โตกว่าเท่าตัวแตะ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 68 

ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Total Packaging Solution)โดยในปี 2564 บริษัทตั้งงบลงทุนเพื่อซื้อกิจการ (M&A) ประมาณ 2,550 ล้านบาท แบ่งเงินจำนวน 1,650 ล้านบาทซื้อบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET หลอดพรีฟอร์ม และ บริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ (BVP) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระดาษ ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 5 หมื่นตันต่อปี

ส่วนเงินลงทุนอีกประมาณ 900 ล้านบาท จะซื้ออีก 1 กิจการ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1 ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกล่องกระดาษ และในอนาคตจะมีธุรกิจที่เกี่ยวกับแผ่นฟิล์มพลาสติกที่จะเข้ามาต่อยอดธุรกิจด้วย ส่วนแหล่งเงินทุนมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน และยังคงรักษาอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ไม่เกิน 2.5 เท่า ปัจจุบันกำลังเจรจาอยู่ประมาณ 3-4 บริษัท

“ทั้ง 2 บริษัทที่จะซื้อมา มีกำไรอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าจะเสริมสร้างศักยภาพให้สามารถรับรู้รายได้และผลกำไรทันที หลังเสร็จสิ้นการเข้าควบรวมกิจการ อีกทั้งเราสามารถนำเสนอบริการแบบครบวงจร (One stop service) ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ พร้อมฉลาก ฝา และกล่องกระดาษ โดยมีทีมงานที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ มีเทคโนโลยีด้านการออกแบบที่ทันสมัย คาดว่า BGC จะเริ่มรับรู้รายได้จากการลงทุนตั้งแต่เดือนพ.ค.นี้ หากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564” นายศิลปรัตน์ กล่าว

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้จากการขายเติบโตประมาณ 35% จากปีก่อนอยู่ที่ 10,968 ล้านบาท ในกรณีที่สามารถเข้าซื้อกิจการทั้ง 3 บริษัทได้สำเร็จ และจะได้รับผลดีจากราคาโซดาแอช (Soda ash) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตแก้วที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และราคาเศษแก้วที่ทรงตัว รวมถึงตั้งเป้าส่งออกไปตลาดต่างประเทศสัประมาณ 12% จากปีก่อนทำได้เพียง 8% ซึ่งจะมุ่งขยายไปยังตลาดต่างประเทศที่มีอัตรากำไรที่สูง จากปีก่อนที่ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดประเทศสหรัฐฯ

ด้านต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการวางแผนรับมือโดยการเพิ่มรูปแบบของพลังงานที่ใช้เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มสัดส่วนการใช้เศษแก้วในการหลอมเพื่อลดการใช้พลังงาน และควบคุมการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาควบคุมและจัดการการใช้พลังงานของเตาหลอมที่มีการผันผวน ทำให้มีการควบคุมที่ดีขึ้น

นายศิลปรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตเท่าตัว จาก 11,000 ล้านบาท เป็น 25,000 ล้านบาท ภายในปี 2025 ด้วยวิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กรเป็น “Bringing Good Value to Everyone Everyday” ที่จะเป็นองค์กรที่ส่งคุณค่าสู่ทุกคน และคาดว่าภายใน 5 ปีต่อจากนี้ (2564-2568) บริษัทฯ จะมีสัดส่วนรายได้หลักจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วประมาณ 55% ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับบรรจุภัณฑ์แก้ว 40% และธุรกิจด้านพลังงาน 5% จากปัจจุบันที่มีรายได้หลักจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว 95% และธุรกิจด้านพลังงาน 5%

ส่วนผลประกอบการในปี 63 ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำจากการล็อกดาวน์  ห้ามขายแอลกอฮอล์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่บริษัทฯ ยังคงสามารถทำกำไรสุทธิ 516 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ทำได้ 512 ล้านบาท แม้ว่ารายได้จากการขายจะอยู่ที่ 10,968 ล้านบาท ลดลงจากระดับ 11,252 ล้านบาทในปี2562 ก็ตาม

คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมติจ่ายเงินปันผลจากงวดผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2563 จำนวน 0.12 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินกว่า 83 ล้านบาท เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 21 เม.ย. และกำหนดจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 7 พ.ค. 2564