บลจ.วี มองธุรกิจพลังงานยุคใหม่เติบโตสูง เปิดตัวกองทุน WE-TENERGY

HoonSmart.com>> บลจ.วี มองแนวโน้มธุรกิจพลังงานยุคใหม่แนวโน้มเติบโตสูง เปิดขาย IPO “กองทุน WE-TENERGY” ระหว่าง 18-24 ก.พ.นี้ สร้างโอกาสรับผลตอบแทนจากการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานและนวัตกรรม ผ่านการลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจ ภาคการผลิตพลังงานสะอาด (Decarbonising) กลุ่มเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Digitalising) และการกระจายการใช้พลังงานทางเลือก (Decentralising)

อิศรา พุฒตาลศรี

นายอิศรา พุฒตาลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วี เปิดเผยว่า บลจ.วี เปิดเสนอขาย IPO กองทุนเปิด วี นิว ทรานซิชั่น เอนเนอร์จี (WE-TENERGY) ระหว่างวันที่ 18-24 ก.พ. 2564 ลงทุนผ่าน กองทุน BNP PARIBAS ENERGY TRANSITION (กองทุนหลัก) มีนโยบายลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการใช้พลังงานแนวใหม่ทั่วโลก รวมถึงอุปกรณ์ที่เพิ่มประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงาน (Energy Transition) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของ EU Taxonomy และ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ

สภาวะสิ่งแวดล้อมปัจจุบันกำลังเป็นเรื่องที่นานาประเทศทั่วโลกตระหนักมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน (Climate Change) ที่เกิดจากการปล่อยมลพิษจากหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมการบริโภค การใช้ ของประชากรทั่วโลก กิจกรรมทางอุตสาหกรรมต่างๆ การใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อผลิตพลังงาน เป็นต้น ล้วนแต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น พายุ , น้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากร ภาคธุรกิจ เศรฐกิจและอุตสาหกรรมของโลกในวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น จากสถิติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเห็นได้ว่า 70% ของการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากการใช้พลังงานเป็นหลัก โดยมีประเทศจีนเป็นอันดับ 1 ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด คิดเป็น 27.2% รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกาและอินเดีย ซึ่งทั้ง 3 ประเทศมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการใช้พลังงานและอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจาก ได้แก่ 1.) อัตราประชากร ทั่วโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นถึงระดับ 9 พันล้านคน ในปี 2035 ซึ่งสาเหตุที่ตามมาคือ 2.) ความต้องการบริโภควัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งหากประเทศจีนและอินเดียเพิ่มอัตราการใช้พลังงานต่อหัวในระดับเดียวกับประเทศเยอรมนี จะส่งผลให้การใช้พลังงานทั่วโลกมีระดับเพิ่มมากกว่า 40% จะทำให้เกิดปัจจัยสุดท้ายคือ 3.) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2018 เป็นปีที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการใช้พลังงานในระดับที่สูงที่สุด เพิ่มขึ้นถึง 2% คิดเป็น 70% ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั่วโลก

จากการประเมินแนวโน้มผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงกว่าการระบาด COVID-19 ส่งผลให้ภาครัฐมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ โดยการออกนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการลงทุนและพัฒนาระบบพลังงานแบบใหม่ที่ลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เพื่อเปลี่ยนผ่านระบบ โครงสร้างพลังงาน (Energy Transition) ภายใต้ข้อตกลงปารีส ( Paris Agreement) ที่ต้องดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 70% ภายในปี 2050 ให้อยู่ที่ระดับ 9.8 กิกะตันต่อปีจากระดับ 33 กิกะตัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

ในปี 2021 การลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างพลังงานจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุน จากมาตรการภาครัฐที่เพิ่มการลงทุนในกลุ่มพลังงานยุคใหม่ เพื่อให้สามารถเป็นไปตามเป้าหมายของ Paris Accord โดยคาดว่าจะมีเงินไหลเข้าลงทุนถึง 90 ล้านล้านเหรียญฯ ในช่วงระยะเวลา 30 ปีข้างหน้านี้ ในบริษัทที่จัดการเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายอิศรา กล่าวว่า กองทุนจะเน้นลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.) Decarbonising กลุ่มการผลิตพลังงานที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น พลังงานทดแทนน้ำมันและถ่านหิน ไม่ว่าจะเป็นด้าน พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมไปถึงการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและแบตเตอรี่พลังงานต่างๆ 2.) Digitalising คือ กลุ่มเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานมากขึ้น, การใช้วัสดุอุปกรณ์ทดแทนและประหยัดพลังงาน รวมถึงใช้วัสดุในอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน และ 3.) Decentralising คือ การใช้ยานพาหนะขนส่งทางเลือก ที่ประหยัดพลังงาน

กองทุนหลักมีความแข็งแกร่งในด้านการคัดเลือก บริษัทที่ลงทุนด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกในโครงสร้างของธุรกิจพลังงานควบคู่ไปกับด้านการใส่ใจสิ่งแวดล้อม , สังคม และหลักธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ของหุ้นที่ลงทุน และติดตามราคาและความเสี่ยงเพื่อประเมินโอกาส และปรับสัดส่วนการลงทุนที่รวดเร็ว (Dynamic Management) ทำให้กองทุนมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น

สำหรับตัวอย่างบริษัทที่กองทุนลงทุนเช่น 1.) บริษัท Sunnova Energy International (NOVA US) ผู้ให้บริการชั้นนำ เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar rooftop system) เพื่อเก็บพลังงานสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย ที่มีลูกค้าทั่วสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 2.5 พันล้านเหรียญฯ ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2020 ที่ผ่านมา

2.) บริษัท LG Chem, KRX (Chemical company) บริษัท เคมีภัณฑ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก จากเกาหลี เป็นซัพพลายเออร์ด้านปิโตรเคมีตั้งแต่การกลั่นขั้นพื้นฐานไปจนถึงการผลิตวัสดุโพลีเมอร์ชนิดพิเศษ และยังพัฒนาวัสดุขั้นสูงใหม่ๆ เช่นพลาสติกชีวภาพ ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการย่อยสลายทางชีวภาพรายแรกของโลก

3.) บริษัท Aptiv, APTV NYSE (Auto parts company) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยในการขับขี่อัตโนมัติ , ระบบการเชื่อมต่อสัญญาณและพลังงานกับยานพาหนะ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้

ด้วยกลยุทธ์และการคัดเลือกบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโต ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนหลัก BNP PARIBAS ENERGY TRANSITION สร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่โด่ดเด่น โดย ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2020 ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 เดือนที่อยู่ที่ 15.41% ย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 57.15% ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 114.36% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 167.30% และผลตอบแทนน้อยหลัง 5 ปีอยู่ที่ 171.62% ต่อปี * เทียบกับดีชนีมาตรฐาน MSCI AC World (EUR) NR อยู่ที่ 2.30% , 9.91% , 13.83% , 6.56% และ 31.33% ตามลำดับ

“ด้วยการพัฒนานวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านอุปกรณ์ แบตเตอรี่ พลังงานสะอาด เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่โครงสร้างพลังงานยุคใหม่ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ทำให้การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานทั่วโลก จึงเป็น เมกะเทรนด์ ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในช่วง 30 ปีข้างหน้า และมีบริษัททั่วโลก ที่กำลังเติบโตจากการลงทุนและพัฒนาระบบพลังงานยุคใหม่ ซึ่งสะท้อนจากผลตอบแทนที่เติบโตอย่างโดดเด่น “กองทุน WE-TENERGY” จึงเป็นกองทุนยุคใหม่ของปี 2021 ที่เพิ่มโอกาสการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว จากการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นายอิศรา กล่าว