CPF ผนึก มช. ดันงานวิจัยนวัตกรรม แมลงทหารเสือ เพื่ออุตสาหกรรม BCG

มช. ผนึกกำลัง ซีพีเอฟ ดันงานวิจัยนวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร  (CPF )  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “งานวิจัย นวัตกรรมแมลงทหารเสือเพื่ออุตสาหกรรม BCG” เพื่อต่อยอดและขยายผลในเชิงพาณิชย์ด้าน Biowaste หรือ Circular Feed ซึ่งสอดรับกับ Model BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) เป็นโมเดลที่ประเทศไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และซีพีเอฟ มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทาง SDGs

รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า มช.ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยแผนงาน SPEARHEAD เศรษฐกิจ โครงการนวัตกรรมน้ำมันสกัดจากแมลงทหารเสือ เพื่อใช้เป็นสารสำคัญในเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นงานวิจัยภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยศึกษาการใช้ประโยชน์จากแมลงทหารเสือในหลากหลายด้าน ด้วยการบูรณาการงานวิจัยและความร่วมมือจากนักวิจัยหลากหลายคณะ

การทำงานวิจัยจะก่อประโยชน์สูงสุด เมื่อผลักดันไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในเชิงพานิชย์ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นการที่มีภาคเอกชนมาร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จึงเป็นเรื่องน่ายินดี โดยเฉพาะความร่วมมือจาก  CPF ที่เป็นผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร รวมถึงมีบริษัทในเครือฯ การนำงานวิจัยไปจึงสามารถนำไปใช้และต่อยอดได้หลายสาขา

“มช. และซีพีเอฟ มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาอุตสาหกรรม BCG ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการผลิตอย่างยั่งยืน ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกรและชุมชน จึงเกิดความร่วมมือในครั้งนี้ขึ้น โดยซีพีเอฟสนับสนุนงบประมาณในการวิจัย และร่วมกันศึกษาเพื่อสร้างระบบต้นแบบการเลี้ยงหนอนแมลงทหารเสือแบบ Smart Farm ที่เหมาะสมสำหรับชุมชน เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปต่อยอดและสร้างอาชีพ โดยนำผลิตผลทางการเกษตรเหลือใช้มาสร้างมูลค่า ซึ่งจะเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและจะเป็นโมเดลในการเรียนรู้ของนักศึกษา เกษตรกร และชุมชนต่อไป” รศ.ดร.ยุทธนา กล่าว

ด้าน ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจในการศึกษาแหล่งโปรตีนทางเลือกไม่ว่าจะเป็น Plant-based Protein, Cell-based Protein รวมไปถึง Insect-based Protein หรือโปรตีนจากกลุ่มของแมลง และได้พัฒนาอาหารสำหรับแมลงชนิดแรก คือ อาหารจิ้งหรีด เมื่อปี 2556 สำหรับแมลงทหารเสือ เครือซีพี ได้เริ่มวิจัยมาในปี 2559 ในการศึกษาถึงการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในหลายๆ ด้าน

“แมลงทหารเสือ เป็นคำตอบหนึ่งของการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกับวัสดุชีวภาพในประเทศ ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปของโปรตีนหรือไขมัน แต่ต้องมีรูปแบบการเลี้ยงที่เหมาะสมทั้งทางด้านการลงทุน และการควบคุมแมลงให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ทั้งนี้ที่มาของการผลิตแมลงก็ต้องสามารถสอบย้อนกลับได้ มีผลผลิตที่ดี ทั้งในทางด้านการผลิตและทางด้านค่าโภชนะต่างๆ รวมไปถึงการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังสนใจที่จะศึกษาการเพิ่มมูลค่า การหาสารสำคัญที่มีประโยชน์ รวมถึงการทดสอบผลข้างเคียง เพื่อพัฒนาไปสู่ในระดับอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนต่อไป” ดร.ไพรัตน์ กล่าว

สำหรับ แมลงทหารเสือ Black soldier fly: Hermetia illucens (เฮอมิเทีย อิลลูเซ้นส์) เป็นแมลงที่มีศักยภาพและกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก และตัวอ่อนแมลง (Larvae) สามารถเปลี่ยนอินทรียวัตถุ ให้เป็นโปรตีนและไขมันได้ และมีอัตราการผลิตโปรตีนต่อนำหนักต่ำ รวมถึงการใช้น้ำในการเลี้ยงน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งโปรตีนชนิดอื่นๆ ทั่วไป โดยสามารถคัดเลือกของเหลือใช้ทางการเกษตรและผลผลิตส่วนเกินที่เป็นแหล่งชีวภาพที่เหมาะสมมาพัฒนาการเลี้ยงให้ที่มาตรฐาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร