HoonSmart.com>>“กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” ลั่นปี 64 รายได้โต 15% รับรู้โรงไฟฟ้าใหม่ 200 เมกะวัตต์เต็มปี ขยายลงทุนเวียดนาม 30-50 เมกะวัตต์คาดสรุปครึ่งปีแรก ส่วนธุรกิจ PPA เพิ่มกำลังการผลิต 30-50 เมกะวัตต์ต่อปี 15 ก.พ.เซ็นสัญญา CJ ซื้อขายไฟบนหลังคา ขนาด 18 เมกะวัตต์ คาดรับรู้รายได้ปีละ 70-80 ล้านบาท ด้านธุรกิจ EPC ตุน Backlog เพิ่มจากปัจจุบันมี 8 พันล้านบาท รับรู้ปีนี้ 3 พันล้านบาท ตั้งงบลงทุนรวมปีนี้ 5-7 พันล้านบาท วิ่งเข้าเป้า 1,000 เมกะวัตต์ปี 66
น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 2564 คาดว่าจะเติบโตขึ้น 15% มาจากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าใหม่ที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เต็มปีที่เพิ่มเข้ามาอีก 200 เมกะวัตต์ และจากการเติบโตของธุรกิจพลังงาน โดยมีแผนจะขยายการลงทุนในเวียดนาม ทั้งในรูปแบบการพัฒนาเอง และการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันมีเจรจาอยู่มาก คาดว่าจะรู้ความชัดเจน 1 โครงการ ในครึ่งแรกของปีนี้ ขนาดกำลังการผลิต 30-50 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสการเข้าลงทุนในประเทศไต้หวันด้วย
ส่วนธุรกิจซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (PPA) คาดว่าจะมีเข้าพอร์ตปีละ 30-50 เมกะวัตต์ อัตราส่วนลดค่าไฟฟ้าเป็นระยะเวลาสัญญา 15 ปี ปัจจุบันกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารและขายไฟฟ้าให้กับ Tesco Lotus จำนวน 3 โครงการ ขนาดโครงการละ 10 เมกะวัตต์ ในอนาคต Tesco Lotus มีการขยายสาขาใหม่ๆเพิ่มอีก บริษัทก็จะเข้าไปลงทุนในลักษณะนี้เพิ่มเติม
วันที่ 15 ก.พ. 2564 บริษัทได้ลงนามกับบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด (CJ) ในสัญญาโครงการซื้อขายพลังงาน (PPA) จากระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาให้กับร้าน CJ Supermarket และ CJ MORE ที่มีประมาณ 500 สาขาทั่วประเทศ รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 18 เมกะวัตต์ แล้วเสร็จไปแล้วประมาณ 3 สาขา คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีนี้ ซึ่งจะรับรู้รายได้ต่อปีประมาณ 70-80 ล้านบาท โดยบริษัทฯเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด ตั้งแต่ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อขายไฟให้กับ CJ ในอัตราส่วนลดค่าไฟฟ้าเป็นระยะเวลาสัญญา 15 ปี
ด้านธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) นำสายส่งไฟฟ้าลงดิน ที่ทำให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าจะเข้าประมูลโครงการมูลค่ารวมปีละ 10,000 ล้านบาท คาดสัดส่วนที่ชนะการประมูลประมาณ 25-30% ซึ่งปัจจุบันมีรายได้รอรับรู้ (Backlog) ประมาณ 8,000 ล้านบาท จะรับรู้ในระยะเวลา 3 ปี (64-66) โดยปีนี้รับรู้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ในอนาคตจะเข้าประมูลเพิ่มยอด Backlog อย่างต่อเนื่อง
สำหรับเงินลงทุนที่ใช้ในโครงการในปีนี้ประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีนี้ (64-66) จากปัจจุบันมีประมาณ 600 เมกะวัตต์