DELTA ไตรมาส 2 กำไร 1.3 พันล้าน เติบโต 64%

“เดลต้า อีเลคโทรนิคส์” อวดผลงานไตรมาส 2 กำไรสุทธิ 1.39 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จากงวดปีก่อน แม้บาทอ่อนค่า ชี้ยอดขายพุ่ง 6.9% หากบาทไม่อ่อนโตกว่า 15%

บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2561 มีกำไรสุทธิ 1,390.29 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.11 บาท เพิ่มขึ้น 64.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 842.62 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.68 บาท ส่วนงวด 6 เดือน ปี 2561 กำไรสุทธิ 2,448.35 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.96 บาท เพิ่มขึ้น 11.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 2,191.11 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.76 บาท

งวดไตรมาส 2 ปี 2561 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าจากอัตราเฉลี่ย 34.2863 บาทต่อเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2 ปี 2560 เป็น 31.9468 บาทต่อเหรียญสหรัฐในไตรมาส 2 ปี 2561

บริษัทฯ มีรายได้จากการขายในไตรมาส 2 จำนวน 13,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่นำผลกระทบจากความผันผวนขออัตราแลกเลปี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบเงินเหรียญสหรัฐยอดขายจะเพิ่มขึ้น 15.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายเพิ่มขึ้นมาจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะยอดขายในกลุ่มเพาเวอร์ซัพพลายที่ใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 15.1% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายในยุโรปและในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแถบยุโรปและอเมริกา

รองลงมาได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พัดลมอิเล็กทรอนิกส์ (DC Fan) มียอดขายเพิ่มขึ้น 10% และอุปกรณ์เพาเวอร์ซัพพลายมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรม (Standard Industrial Power Supplies หรือ IPS) มียอดขายเพิ่มขึ้น 9.5% ขณะเดียวกันยอดขายไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วก็เพิ่มขึ้นเช่นกันอัตรา 4.9%

สำหรับกำไรขั้นต้นในไตรมาส 2 ปี 2561 มีจำนวน 2,889 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.5% โดยสาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบในรูปของเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลให้กำไรขั้นต้นโดยรวมลดลงเหลือ 22% จาก 25.4% ในงวดเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561

นอกจากนี้บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายรายการสำคัญที่เกิดขึ้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายจากการถูกประเมินภาษีจำนวน 992 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) เงินสำรองสำหรับภาษีเงินได้รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน 734 ล้านบาท สำหรับการประเมินภาษีเงินได้ในระหว่างปี 2540 ถึง 2543 ซึ่งบริษัทฯ ต้องชำระตามคำพิพากษาของศาลฎีกาอ่านเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2560 และ 2) สำรองเพิ่มอีกจำนวนรวม 258 ล้านบาทและสำรองที่มีอยู่เดิมจำนวน 100 ล้านบาท สำหรับภาษีเงินได้สำหรับการประเมินภาษีเงินได้ในระหว่างปี 2544 ถึง 2549 รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวม 557 ล้านบาท