KTAM Focus : Dual-Core Portfolio

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย

Core & Satellite เป็นแผนลงทุนที่แพร่หลายมานาน แบ่งเงิน 2 ส่วนได้แก่ Core “ส่วนหลัก” ลงทุนระยะยาวซื้อแล้วถือ (buy-and-hold) และ Satellite “ส่วนเสริม” มุ่งแสวงโอกาสทำกำไรโดยเข้าออกเป็นรอบในระยะสั้น-กลางตามมุมมอง

หากพิจารณาเฉพาะพอร์ตหุ้น “Core Holdings” มักประกอบด้วยกองทุนดัชนีในประเทศของผู้ลงทุนเช่น SET50 ของไทย S&P 500 ของสหรัฐ เป็นต้น ส่วนแกนกลางของ “เงินลงทุนหุ้นต่างประเทศ” ระยะหลังนิยมใช้กองทุนเชิงรุกซึ่งวัดผลดำเนินงาน (benchmark) กับดัชนีที่เป็นตัวแทนของหุ้นโลก อาทิ MSCI All Country World Index (ACWI)

ACWI มีหุ้นสหรัฐเกือบ 60% นอกนั้นไม่มีประเทศใดถึง 10% เลย (รองลงมาคือ ญี่ปุ่น < 7%) ยุโรปสมาชิกเยอะรวมๆกันก็พอมีนัยสำคัญ แต่เศรษฐกิจใหญ่เบอร์ 2 อย่าง “จีน” ซึ่งกำลังเติบโตแข็งแกร่งและอีกไม่กี่ปีมีลุ้นแซงขึ้นไปเป็นแชมป์โลก กลับมีสัดส่วนไม่ถึง 1/10 ของสหรัฐ ไต้หวันและเกาหลีใต้มีบทบาทมากในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี จับมัดรวมกันได้แค่ 3% กว่าๆ “อินเดีย” ยักษ์ใหญ่ชมพูทวีปไม่ติด top-20 เช่นเดียวกับ ASEAN-5 (สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์) สรุปแล้วสิ่งที่ core ขาดอยู่มากคือ “หุ้นเอเชีย” ในมุมมองของเรา

ทำไมต้องหุ้นเอเชีย? แม้ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา หุ้นสหรัฐ นำโด่งเหนือตลาดอื่นด้วยผลตอบแทนเกือบ 300% หรือเกิน 2 เท่าของเอเชีย ทว่าทศวรรษต่อจากนี้คงถึงที “หุ้นเอเชีย” นอกจากความเคลื่อนไหวโดดเด่นตั้งแต่ต้นปี สะท้อนผลของ fund flows ไหลบ่าเข้าสู่ภูมิภาคแล้ว “สาเหตุ” นั้นก็ยืนยันหนักแน่น โดยนักวิเคราะห์หลายรายชี้ไว้ค่อนข้างตรงกัน เราขอหยิบมาสักอันของ FundCalibre ถูกอ้างถึงบนเว็บไซต์ Interactive Investor ระบุปัจจัย 4 ประการ ซึ่งน่าจะช่วยให้หุ้นเอเชียสร้างความประทับใจในช่วง 10 ปีข้างหน้า แถมมีโอกาสชนะหุ้นสหรัฐด้วย!

  1. 1. วิกฤตมักเปลี่ยน “ผู้นำ” ในตลาด เช่น dotcom ปี 2000 จบรอบ US growth momentum ทำให้นักลงทุนหันไปหาหุ้น value, emerging markets และยุโรป แต่พอถึงช่วงหลังวิกฤตการเงินโลก 2008 หุ้นสหรัฐและกลุ่มที่เติบโตสูง (growth) ก็กลับมาผงาดอีกครั้ง ส่วนรอบนี้ “เอเชียเหนือ” นำการฟื้นตัวหลังโควิดระบาด
  2. 2. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของคนชั้นกลาง ยังคงสนับสนุนการบริโภคภายในเอเชีย
  3. การค้าในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มเร่งตัว สืบเนื่องจากข้อตกลงการค้าเสรีซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
  4. ราคาหุ้นเอเชียหลายกลุ่มยังไม่แพง เปิดโอกาสสำหรับพอร์ตเชิงรุกในการแสวงหาหุ้นเพื่อรับ upside

Dual-Core Portfolio เราเสนอแนวคิด “พอร์ตแกนคู่” เพื่อปรับปรุงน้ำหนักรายประเทศให้สมดุลดียิ่งขึ้นและเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ลองคำนวณก่อนโดยนำอีทีเอฟ 2 กองทุนซึ่งเป็นตัวแทน “หุ้นโลก” iShares MSCI ACWI ETF (ACWI) และ “หุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)” iShares MSCI All Country Asia ex Japan ETF (AAXJ) มาผสมกันอย่างละครึ่ง ปรากฏว่าได้สัดส่วนน่าพอใจ สหรัฐ (29%) ใกล้เคียงกับจีน (26%) เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย มีบทบาทเพิ่มขึ้นสมศักยภาพ 5 ตลาดหุ้นอาเซียนก็เข้ามาอยู่ใน 20 อันดับแรกด้วย

กองทุนหุ้นเอเชียที่เหมาะสำหรับใช้เป็น Core Holdings คือ ลงทุนได้ในปริมาณมากและถือระยะยาว ควรมีทีมงานวิเคราะห์และบริหารพอร์ตลงทุนขนาดใหญ่ ครอบคลุมและเจาะลึกลงไปในแต่ละประเทศหลักๆได้อย่างทั่วถึงครบถ้วนทั้งภูมิภาค มีสไตล์และกระบวนการคัดกรองหลักทรัพย์ที่ชัดเจน มุ่งแสวงหาหุ้น “คุณภาพสูง” และ “โอกาสเติบโตสูง” เป็นหลัก หากมีประวัติการดำเนินงานโดดเด่นยาวนานและสม่ำเสมอ ก็ถือเป็นแต้มต่อที่สำคัญ *** The New Core กำลังจะมา *** อีกไม่กี่อึดใจ…โปรดติดตาม!


คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านบทความอื่นๆ

KTAM Focus : Too Big to Sell