อ้อน ธปท. เลิกเพดานดอกเบี้ย ช่วย “ฟรีแลนซ์” เข้าถึงเงินกู้

นายแบงก์ ชี้ ธปท. ต้องเลิกจำกัดเพดานดอกเบี้ย เปิดให้แข่งขันเสรี เพื่อช่วยคนไม่มีเงินเดือนเข้าถึงเงินกู้ หลังจากสถาบันการเงินหันมาวิเคราะห์เงินกู้โดยดูจากพฤติกรรมผู้กู้ ร่วมกับการวิเคราะห์ความเสี่ยง-หลักประกัน งานวิจัยของ TIJ ระบุไมโครไฟแนนซ์ไม่สำเร็จ ธนาคารไม่เล่นด้วย เพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ ระบุในรายงาน “ระบบหนี้ที่เป็นธรรม : ข้อสังเกตบางประการต่อการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน ระบุว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สินเชื่อรายย่อยสำหรับลูกค้ารายย่อยไม่ประสบความเร็จ เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานสูงและต้องรับความเสี่ยงสูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อรายย่อย 3 โครงการ ถูกกำหนดเพดานดอกเบี้ยไว้ที่ 28-36% โดยสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ กำหนดไว้ที่ 28% ขณะที่สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อพิโก้ไฟแนนซ์ กำหนดไว้ที่ 36%

พร้อมกับระบุว่า เทคโนโลยีการเงิน (FinTech) จะเข้ามาช่วยให้การเข้าถึงเงินกู้ของผู้กู้ทำได้ง่ายขึ้น และต้นทุนดำเนินงานของผู้ให้กู้ต่ำลง

น.ส.กุลนรัตน์ สามัคคีนิชย์ Director – Idochina บริษัท LenddoEFL กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง การสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงในระบบเศรษฐกิจอนาคต ที่จัดโดย TIJ ว่า ในขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งกำลังศึกษาและทดลองนำข้อมูลด้านพฤติกรรมของผู้ขอกู้มาใช้วิเคราะห์สินเชื่อ (Information-based Lending) ร่วมกับการพิจารณาด้านเครดิต (Risk-based Lending) และหลักประกัน (Collateral-based Lending)

“ทุกวันเราจะทิ้ง Digital Footprint เอาไว้ในโทรศัพท์มือถือ ในโลกออนไลน์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อได้ โดยจะทำให้คนที่ไม่มีหลักฐานทางการเงินสามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ เช่น ฟรีแลนซ์ เกษตรกร คนที่ไม่มีเงินเดือน ขณะเดียวกันจะช่วยให้ผู้ให้กู้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เร็วขึ้นและต้นทุนต่ำลง” น.ส.กุลนรัตน์ กล่าว

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านการวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ธนาคารพาณิชย์จะนำ Information-based Lending มาใช้ประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อแน่นอน เพราะในปัจจุบันระบบการเงินเริ่มตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า หาก ธปท. ต้องการให้ระบบการเงินนำInformation-based Lending มาใช้ประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ จะต้องปล่อยให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เช่น การยกเลิกเพดานดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อรายย่อย

“ถ้าเราใช้ Information-based Lending วิเคราะห์สินเชื่อสินเชื่อแล้วระบบบอกว่า ลูกค้ารายนี้มีดอกเบี้ยที่เหมาะสมอยู่ที่ 29% แต่เพดานอยู่ที่ 28% ลูกค้ารายนี้ก็จะไม่ได้สินเชื่ออยู่ดี ขณะเดียวกันลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำก็จะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดตามความเสี่ยงที่ระบบประเมินได้” ผู้บริหารรายนี้ กล่าว

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวในงานเดียวกันว่า กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสินเชื่อในปัจจุบันค่อนข้างเข้มงวดและปกป้องมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้ในยุคใหม่ จึงเรียกร้องให้ผู้กำกับดูแลทำความเข้าใจสังคมยุคใหม่ให้มากขึ้น

“ไม่ใช่ว่า การส่งไลน์ตอนเช้าได้แล้วจะหมายความว่า เข้าใจโลกยุคดิจิทัล เพราะตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ผู้ออกกฎยังไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ ซึ่งเราไม่สามารถอยู่ในโลกแบบนี้ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต น่าจะปล่อยให้คนรุ่นใหม่เข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้แทน” นายสุรพล กล่าว