OISHI กำไร 225 ลบ. ลด 37% รายได้ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มร่วง

HoonSmart.com>> “โออิชิ กรุ๊ป” เปิดผลงานไตรมาสแรก กำไรสุทธิ 225 ล้านบาท ร่วง 37% พิษโควิดฉุดยอดขายธุรกิจเครื่องดื่ม อาหารลดลง 20% ด้านต้นทุน ค่าใช้จ่ายคุมได้ลดลง

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2563 กำไรสุทธิ 225.35 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.60 บาท ลดลง 37%จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 357.49 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.95 บาท

กำไรสุทธิลดลงมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ยอดขายและกำไรสุทธิของทั้งธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารปรับตัวลดลง ชดเชยด้วยการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด อนึ่งบริษัทได้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีเรื่องสัญญาเช่า (TFRS 16) ในไตรมาสที่ 1/2563-2564 เป็นครั้งแรก ซึ่งบริษัทได้รับรู้ค่าตัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าเพิ่มขึ้นสุทธิภาษีซึ่งกระทบกำไรสุทธิในไตรมาสนี้ประมาณ 7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับวิธีปฏิบัติเดิม

ด้านรายได้จากการขายและให้บริการรวมในไตรมาสที่ 1/2563-2564 ทั้งสิ้น 2,667 ล้านบาท ลดลง 694 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.7% จากงวดเดียวกันของไตรมาสที่ 1/2562-2563 สาเหตุหลักเนื่องมาจากมาตรการการปัองกันโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ยังไม่มีการระบาด

ธุรกิจเครื่องดื่มมีรายได้จากการขายและให้บริการธุรกิจ 1,480 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 91 ล้านบาท หรือ 5.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากยอดขายส่งออกลดลง 15% จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของบริษัทซึ่งทำให้เกิดการชะลอการนำเข้า อย่างไรก็ตามบริษัทสามารถสร้างยอดขายภายในประเทศกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีแรงผลักดันมาจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “Oishi Plus C” หรือ ชาเขียวผสมวุ้นมะพร้าวและวิตามินซี ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค และการเติบโตของยอดขายในช่องทางดั้งเดิม (Traditional Trade) อย่างต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจอาหารมีรายได้ 1,187 ล้านบาท ลดลง 603 ล้านบาทหรือ 33.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ส่งผลให้ผู้บริโภครับประทานอาหารในร้านน้อยลง อีกทั้งมาตรการจำกัดจำนวนคนและเวลาในการบริโภคในร้านอาหาร

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พัฒนาการขายผ่านช่องทางส่งตรงถึงบ้าน (Home Delivery) และมีโปรโมชั่นที่น่าสนใจซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังไม่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย

ด้านต้นทุนขายและให้บริการรวมอยู่ที่ 1,784 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 385 ล้านบาท หรือ 17.8% ค่าใช้จ่ายในการขาย 254 ล้านบาท ลดลง 81 ล้านบาท หรือ 24.2% ผลมาจากการมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย การเจรจาลดค่าเช่ากับเจ้าของพื้นที่ รวมถึงการดำเนินนโยบายอย่างเคร่งครัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในร้านอาหาร ซึ่งเป็นมาตรการที่บริษัทปรับใช้และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารรวม 420 ล้านบาท ลดลง 82 ล้านบาท หรือ 16.3%