HoonSmart.com>> “ท่าอากาศยานไทย” ไตรมาส 1/64 พลิกขาดทุนสุทธิ 3,442 ล้านบาท ทรุด 147% จากงวดปีก่อนกำไร 7,335 ล้านบาท พิษโควิดกระทบการบิน ฉุดรายได้รวมวูบกว่า 14,376 ล้านบาท
บริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 3,441.98 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.24 บาท ผลงานแย่ลง 10,776.70 ล้านบาท หรือ -146.93% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 7,334.71 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.51 บาท
ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 ปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของทอท.มีจำนวนเที่ยวบินรวม 104,336 เที่ยวบิน ลดลง 53.50% เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 14,903 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 89,433 เที่ยวบิน ส่วนจำนวนผู้โดยสารรวมมีทั้งหมด 10.73 ล้านคน ลดลง 70.79% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 0.20 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 10.53 ล้านคน โดยการลดลงส่วนใหญ่มาจากเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศ
ด้านรายได้รวมลดลง 14,376.63 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการลดลง 13,928.40 ล้านบาท หรือ -86.49% จากการลดลงทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบินเกี่ยวกับกิจการการบิน 8,115.65 ล้านบาท หรือ -90.12% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 5,812.75 ล้านบาท หรือ -81.88% เนื่องจากการลดลงของจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสาร รายได้อื่นลดลง 448.23 ล้านบาท หรือ -44.29%
ด้านค่าใช้จ่ายรวมลดลง 1,364.47 ล้านบาท หรือ -17.60% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 570.77 ล้านบาท เนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายของหนี้สินตามสัญญาเช่าเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย แต่คาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตและนำวัคซีนสำหรับป้องกันโรคโควิด-19 มาใช้ได้ภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ทอท.จะยังคงดำเนินการในโครงการต่างๆ ตามแผนงาน รวมทั้งใช้โอกาสในช่วงที่มีปริมาณเที่ยวบินน้อยนี้ ดำเนินการซ่อมแซมหรือก่อสร้างทางวิ่งทางขับให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมการฟื้นตัวของธุรกิจการบินที่จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
ทอท.ยังคงเดินหน้าแผนแม่บทพัฒนาขีดความสามารถของ ทสภ. ซึ่งในส่วนของโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 มีความคืบหน้าในการดำเนินงานก่อสร้างอาคารเทยีบเครื่องบินรองหลังที่1 (Satellite 1 : SAT-1) โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี2565
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 มีความล่าช้า เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนแรงงานลดลง ไม่สามารถนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตจากต่างประเทศมาใช้ในโครงการได้ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศไม่สามารถเดินทางมาให้คำปรึกษาในการดำเนินการติดตั้งและรวมทดสอบการทำงานร่วมกันของระบบอุปกรณ์ต่างๆในประเทศไทยได้
นอกจากนั้นความคืบหน้าโครงการพัฒนาขยายท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ทอท.อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณา โดยโครงการดังกล่าว ทอท.จะทำการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่แห่งที่ 3 บริเวณอาคารภายในประเทศหลังเดิมที่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน
สำหรับแผนการดำเนินการภายในปี 2564 ทอท.ได้จัดตั้งบริษัทเพื่อบริหารโครงการเกี่ยวกับสินค้าเน่าเสียง่าย ณ ทสภ.เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2564 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก
ทั้งนี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีโครงการแอร์พอร์ตซิตี้ โดยมีแผนพัฒนาที่ดินแปลง 37 ที่อยู่ภายใน ทสภ. และที่ดินแปลง 723 ไร่ ที่อยู่ใกล้ ทสภ.ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดย ทอท.จะคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนตามแผนที่จะพัฒนาที่ดินบริเวณโดยรอบ ทสภ.ให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่เมืองการบินอย่างสมบูรณ์แบบต่อไป