SCC แจก 3 คาถา โตยั่งยืน เข้าใจผู้บริโภค พร้อมปรับตัว ทำงานเร็ว

HoonSmart.com>>” รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ให้มุมมองถึง “โอกาสและความท้าทายของธุรกิจยุค New Normal “ว่า บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้สังเกตุเห็น เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค ปรับตัวให้เร็ว และทำงานรวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผ่านช่วงวิกฤตมาได้ สามารถผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านและจะเติบโตยั่งยืนในระยะยาวได้

“ความต้องการของผู้บริโภค เราจะต้องใช้วิธีสังเกตุ เมื่อกลางเดือนก.พ. 2563 ที่ผ่านมา เห็นความต้องการจริงๆ และสิ่งที่เป็นความต้องการพื้นฐาน เช่น เดลิเวอรี่ เรื่องของสุขภาพ ความสะอาด ซึ่งเห็นโรงงานปรับตัว หันมาทำเครื่องกดล้างมือ ธุรกิจควรใช้โอกาสในการพัฒนาธุรกิจในระยะยาว และการทำงานให้เข้มแข็ง ซึ่งวิกฤตโควิดรอบนี้ มีความรุนแรงอย่างมาก ขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่าผลกระทบจะยาวนานแค่ไหน ไม่มีใครรู้ว่าจะหยุดและกลับไปเหมือนเดิม กินเวลานานแค่ไหน แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว”

SCC มี 3 ธุรกิจหลัก คือ วัสดุก่อสร้าง ซีเมนต์ และบรรจุภัณฑ์ ด้านหนึ่งมีความต่างกัน เช่น คู่แข่งและธรรมชาติของลูกค้า ตลาดมีความต้องการต่างกัน วิธีการทำธุรกิจต่างกัน แต่ 3 ธุรกิจจะใช้กลยุทธ์เดียว และสามารถแชร์กันได้ คือ ESG (Environmental, social and corporate governance) การสร้างสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี โชคดีที่บริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอด  เพราะเป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจในปัจจุบันและตลอดไป บริษัทมีพื้นฐานค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เข้าไปใน DNA ใส่ในธุรกิจด้วย เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของธุรกิจ ซึ่งนักลงทุนสถาบันต่างประเทศรวมถึงสถาบันไทยให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG มาก ในการพบกันในแต่ละครั้ง ได้ใช้เวลามากในการพูดคุย และซักถามเรื่องนี้

ส่วนสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านของผู้บริโภค ปัจจุบันการลงทุนสร้างโรงแรมใหม่ ลำบาก การลงทุนของภาครัฐในโครงการสาธารณูปโภคยังไปได้อยู่ ส่วนภาคที่อยู่อาศัย จะเหนื่อย การก่อสร้างจะมีน้อยลง การซ่อมแซมมีมากขึ้น สินค้าที่จะเข้าไปต้องตรงใจมากขึ้น ตลาดของวัสดุก่อสร้างยังมีโอกาส เช่นการอำนวยความสะดวกในการก่อสร้าง ของที่ใช้ในบ้าน แต่จะต้องปรับรูปแบบของร้านค้า ใช้ดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นและต้นทุนต่ำลง

เช่นเดียวกับธุรกิจปิโตรเคมี แม้ว่าขึ้นอยู่กับตลาดต่างประเทศ บางส่วนได้รับผลกระทบจากโควิด ส่วนที่เกี่ยวกับความสะอาด สุขภาพไปได้ ส่วนที่ทำแผงโซลาร์เซลไปได้ และการเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องปรับตัว  SCC  ผลิตเม็ดพลาสติกจะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง แบบรีไซเคิล และ เซอร์คูลาร์อีโคโนมี ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย

สำหรับทิศทางของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ในเรื่องการเจริญเติบโต เน้นการพัฒนานวัตกรรม อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสินค้าที่มีมูลค่าสูงเป็นสัดส่วน 40% จากปัจจุบันอยู่ที่สัดส่วน 30%  แต่จะต้องไม่หลอกตัวเอง เพราะทุกปีผู้บริโภคมีการพัฒนา สินค้ามูลค่าสูงในปัจจุบัน แต่อีก 1-2 ปี อาจไม่ใช่แล้ว จะต้องมีการปรับโจทย์ให้ยากมากขึ้น เป้าสูงขึ้น จะต้องท้าทายและไม่หลอกตัวเอง

“3 ธุรกิจหลักต้องหาดูโอกาส  แต่ไม่ไปทำโรงพยาบาล เราจะเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของคนที่ให้บริการสุขภาพ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในอุปกรณ์การแพทย์ และยา รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่นการถ่ายเทอากาศ เป็นเรื่องสุขภาพของผู้บริโภค”

“รุ่งโรจน์”กล่าวถึงการลงทุน บริษัทฯยังคงให้น้ำหนักลงทุนในโครงการปิโตรเคมีที่เวียดนามประมาณ 60%  เพราะตลาดยังมีการเติบโต เป็นการลงทุนในพื้นฐาน การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 70% อีก 2 ปีก็สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ส่วนการลงทุนอีก 20-30% ลงทุนในตลาดใหม่ ลงทุนนวัตกรรม  และอีก 10-20% ลงทุนด้านเซอร์คูลาร์อีโคโน

ทั้งนี้ตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต  เช่นตลาดอาเซียน นอกจากเวียดนาม ก็มีอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ที่มีศักยภาพและภูมิภาค ส่วนเศรษฐกิจของไทย กลุ่มส่งออกและการบริโภคไปได้ แต่มีเงื่อนไขว่าโควิดจะต้องไม่รุนแรง เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ บริหารได้ ระยะยาวขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการกระจายวัคซีน  ส่วนท่องเที่ยวและบริการยังต้องใช้เวลา

ส่วนราคาพลังงานที่สูงขึ้น และเงินบาทแข็งค่า บริษัทได้รับผลกระทบ เพราะใช้พลังงานในการผลิตปิโตรเคมี และส่งออกไปมาก  ซึ่งจะต้องปรับตัว เช่นการใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ตอนนี้พัฒนาแล้ว การลงทุนคุ้มสำหรับการใช้โซลาร์ในการผลิต ทดแทนการใช้พลังงานแบบเดิม รวมถึงการเพิ่มความเข้มแข็งของต้นทุน มีการบริหารจัดการซัพพลายเชนดีขึ้น ยกระดับการให้บริการให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีความต้องการของสินค้าของบริษัทตลอดไป