บล.โกลเบล็ก ประเมินแบงก์กำไรไตรมาส 2/2561 ออกมาดีกว่าคาด หนุนดัชนีระยะสั้น บวกตัวเลขส่งออกสูงสุดในรอบ 7 ปี แม้ปัญหาสงครามการค้ายังอยู่ แนะลงทุนหุ้น Q2/61 โต ด้านราคาทองคำยังเจอแรงกดดันจากค่าเงินผันผวน ให้แนวต้าน 1,240 ดอลลาร์ เน้น swing trade
น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยได้แรงหนุนจากการประกาศงบไตรมาส 2/2561 ของหุ้นธนาคารใหญ่หลายตัวออกมาดีกว่าคาด คาดนักวิเคราะห์ปรับประมาณการกำไรทั้งปีใหม่ หลังเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชี IFRS9 ออกไปอีก 1 ปีเป็น 1 ม.ค. 2563 และตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย.ขยายตัว 8.19% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ขยายตัว 10.96% สูงสุดในรอบ 7 ปีหนุนการปรับเพิ่มเป้าส่งออกปีนี้
ส่วนปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยในระยะนี้ คือ สงครามการค้ากลับมาสร้างความกังวลอีกหลังปธน.ทรัมป์ขู่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงินสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนอียู เม็กซิโก และแคนาดาขู่จะตอบโต้สหรัฐฯ หากสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีชิ้นส่วนและรถยนต์ และปธน.ทรัมป์วิจารณ์นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตา วันที่ 25 ก.ค. ยุโรปและสหรัฐฯ มีกำหนดเจรจาการค้าที่กรุงวอชิงตัน วันที่ 26 ก.ค กำหนดประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 30-31 ก.ค. กำหนดประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 31 ก.ค. ธปท. รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย และในวันที่ 31 ก.ค.-1 ส.ค. กำหนดประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มผันผวน แนะนำเก็งกำไรในหุ้นที่คาดผลประกอบการเติบโต Q2/61 ได้แก่ BANPU, BPP, IVL, JUBILE, DELTA, SVI, CPF, LH, TPIPP และ WHAUP ประกอบกับหุ้นแบงก์ที่ประกาศผลประกอบการออกมาดีกว่าคาดและนักวิเคราะห์มีแนวโน้มปรับเพิ่มประมาณการ ได้แก่ KBANK, BBL, SCB และKKP และหุ้นกลุ่มส่งออก ที่ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าสู่ 33.30 บาท/ดอลลาร์ ได้แก่ SVI, DELTA, CPF และ GFPT
ด้านแนวทางการลงทุนในทองคำ จากการคาดการณ์ผลกระทบของคำสัมภาษณ์ปธน.ทรัมป์ที่ระบุว่า จีนกดค่าเงินหยวนให้อ่อนเพื่อหวังผลประโยชน์ด้านการค้าระหว่างประเทศ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทันที แต่ฝ่ายวิจัยคาดว่ามีผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น และมีโอกาสที่ดอลลาร์จะกลับมาแข็งค่าอีก
ทั้งนี้ ประเมินกรอบการรีบาวด์ของราคาทองคำจะถูกจำกัดอยู่ที่แนวต้าน 1,240 ดอลลาร์โดยความผันผวนของค่าเงินบาทจะเป็นความเสี่ยงหลัก จึงแนะนำให้พอร์ตระยะสั้นเก็งกำไรในสินค้า Gold-D โดยเน้น swing trade และปิดทำกำไรเร็วเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว ส่วนพอร์ตระยะกลางถึงยาว แนะนำให้ทยอยเข้าซื้อสะสมเมื่อราคาย่อลงเพื่อเล่นรอบหรือถือลงทุน