HoonSmart.com>>ทำไม !!! หุ้นบริษัท ที คิว อาร์ (TQR) ที่ยังไม่ลงสนาม mai แต่มีนักลงทุน ถึงกองทุน-สถาบัน พูดถึงและให้ความสนใจสูงไม่แพ้ OR เลยทีเดียว ???
หลายคนสับสนในชื่อ TQR กับ TQM และเข้าใจว่าเป็นบริษัทพี่-น้อง , อีกทั้งธุรกิจยังมีละม้ายคล้ายกัน แทบแยกกันไม่ออก ที่สำคัญผู้ถือหุ้นใหญ่ ยังเป็นกลุ่มเดียวกัน ….ก็ไม่ผิดที่จะคิดแบบนั้น ????
ความร้อนแรงปรอทแตก ของ TQR ด้วยเหตุผลข้างต้น และเมื่อเทียบชั้นราคาหุ้น TQM แล้ว จิตวิทยาความเชื่อว่า TQR ต้องเดินตามรอย TQM
เหตุผลทั้งหมด เป็นการคิดจากความเชื่อจากข้อมูลที่ปรากฏเท่านั้น !!!
หากดูประสบการณ์บริหารของ “ชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ “ ผู้นำทัพ TQR ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้น แม้ไม่ใช่หุ้นใหญ่ แต่ใจเกิน 100
“ชนะพันธุ์ – หนึ่ง “ ผู้บริหารมากประสบการณ์ จากเด็กรัฐศาสตร์จุฬา ไปคว้าปริญญาโทจากสหรัฐ ได้เริ่มงานที่บริษัทไทยรับประกันภัยต่อ (THRE ) หรือไทยรี ตั้งแต่ปี 2535-2552 เป็นเวลาถึง 17 ปี จากพนักงานประกันภัยต่อฝึกหัด เติบโตขึ้นสู่ตำแหน่งสุดท้าย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
การสั่งสมประสบการณ์จากไทยรี บริษัทรับประกันภัยต่อ ถึงจุดหนึ่งทำให้เกิดความคิด “ อยากมีกิจการ มีเงิน” ขึ้นมา จึงลาออก มาขายผลิตภัณฑ์กาแฟส่งร้านสะดวกซื้อ ซึ่งปัจจุบัน “ชนะพันธุ์” ถือหุ้นอันดับ 4 และกิจการนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว
ช่วงเวลาเดียวกัน “หนึ่ง” ก็ไม่ทิ้งงานประกันภัยต่อ งานที่รักและถนัด ในปี 2555 ประเทศไทย เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ ความเสี่ยงของธุรกิจน้อยใหญ่ เป็นโอกาสทำให้เกิด TQR
“ชนะพันธุ์” ยืนยันว่า แม้ผู้ถือหุ้นใหญ่ TQM “กลุ่มพรรณนิภา” จะถือหุ้นใหญ่ใน TQR แต่การบริหารงานของเขาเป็นอิสระ ผถห.ใหญ่ เป็นเพียงผู้ถือหุ้น อีกทั้งธุรกิจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ทีคิวอาร์ เป็นบริษัททำธุรกิจรับประกันภัยต่อ เป็นบริษัทรับประกันภัยต่อระดับแถวหน้า ที่เป็นของไทย เพียงรายเดียว มีส่วนแบ่งตลาดเติบโตจาก 4.8% ของเบี้ยประกันภัยต่อรวมในประเทศไทย ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 10.4% ของเบี้ยประกันภัยต่อรวมในปี 2562
TQR ความเสี่ยงคือโอกาส
“ชนะพันธุ์” บอกว่า ธุรกิจของ TQR จะเป็นนายหน้าประกันภัยต่อ ที่มีใบอนุญาต (ไลน์เซนต์) ประกันภัยตรง (ถึงบริษัทประกัน เช่น วิริยะ , อาคเนย์ ฯลฯ) และไลน์เซนต์ ประกันภัยต่อ (ส่งต่อให้ ไทยรี , บริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ)
” ลักษณะของ TQR จะเป็นคนกลาง หรือ นายหน้า จัดการให้กับบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น วิริยะ เทเวศน์ ฯ ซึ่งเป็นคู่ค้า ซึ่งบริษัทประกันต่าง ๆ สามารถส่งลูกค้าตรงถึงบริษัทรับประกันภัยต่อได้ แต่ต้องมีวอลุ่มหรือปริมาณกรมธรรม์ระดับหนึ่ง รวมทั้งการเจรจาต่อรอง ซึ่งการส่งต่อ มีความสะดวกกว่า”
ซีอีโอ กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่เป็นจุดแข็งของ TQR คือ การเป็นนายหน้ารับประกันภัยต่อครบวงจร ที่ทำกรรมธรรม์ยากได้ และเป็นของคนไทย เช่น ประกันการรับผิดต่อรับผิดของหมอ , ทนาย ,พยาบาล หรือนักบัญชี , ประกันภัยก่อการร้าย , วินาศกรรม
“จุดแข็งของ TQR คือ การเป็นนายหน้าประกันภัยต่อ ครบวงจรของคนไทย เข้าใจตลาด เข้าใจคู่ค้า และเข้าใจผู้บริโภค ที่มีสำนักวิจัย ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ภัยรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทันกับต่างประเทศ สำหรับ TQR แล้ว ความเสี่ยงคือโอกาส ในการสร้างธุรกิจ”
เข้าตลาดหุ้นเป็นอีสปให้ทีมบริหาร
เพิ่มทุน 60 ล้านหุ้น เพื่อพัฒนาระบบ
“ชนะพันธุ์ ” กล่าวอีกว่า การเข้าตลาดเป็นเรื่องของความท้าทาย เป็นอีสป (มีหุ้น) ให้กับทีมงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ เป็นทีมงานมีประสบการณ์และคุณภาพสูง ส่วนจำนวนที่เสนอขาย 60 ล้านหุ้น เป็นจำนวนเล็กน้อย มีวัตถุประสงค์เพิ่มทุน เพื่อนำไปลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยี ซึ่งมีความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของสถิติ หัวใจของการรับประกันภัย และ พัฒนาประกันภัยใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภค
ซีอีโอ กล่าวย้ำว่า TQR เป็นธุรกิจตัวกลาง ที่ไม่มีความเสี่ยงในการรับประกันภัย เพราะเป็นคนกลางที่ส่งต่อการประกันภัยของบริษัทประกัน ให้กับ บริษัทรับประกันภัยต่อทั้งไทยและต่างประเทศ รายได้- กำไรสุทธิ ที่ผ่านมาจึงเติบโตต่อเนื่อง 9เดือน/2562 กำไร 38 ล้านบาท และ 9เดือน/63 กำไร 69 ล้านบาท และมีทุนชำระแล้วหลังเพิ่มทุน 230 ล้านหุ้น