ความจริงความคิด : สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการขายหนังสือมือสอง

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ช่วง Covid เป็นช่วงที่เหงาจริงๆ งานที่เคยมีก็หดหายไปหมด แถมยังมาผิดหวังไม่ได้สิทธิ “เราชนะ” อีก เหตุผลก็คือ “มีเงินได้พึงประเมินในปี 2562 เกิน 300,000 บาท”

ก็ไม่รู้เอาตรรกะอะไรมาคิด เพราะช่วงปลายปี 2562 Covid เพิ่งเริ่มเกิดที่ประเทศจีน ในไทยยังไม่ได้รับผลกระทบกันมากเท่าไหร่ ปี 2563 สิถึงจะเป็นปีเผาจริง เพราะฉะนั้นถ้าจะช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจาก Covid ก็ควรพิจารณาจากปี 2563 ถึงจะถูก

แต่บ่นไปถ้าจะงอมืองอเท้า รอรัฐบาลเปลี่ยนใจ ก็เสี่ยงไปหน่อย ว่าแล้ว ต้องช่วยตัวเอง รายได้ไม่มี ก็ต้องเอาทรัพย์สินมาขายหากินไปพลางๆก่อน มองซ้ายมองขวาก็เห็นแต่หนังสือที่กองเต็มบ้าน ซื้อสะสมมาตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยโรย เลย เอา ว่ะ ขายหนังสือแล้วกัน เดี๋ยวนี้ง่ายมาก ไม่ต้องแบกหนังสือไปขายตามตลาดนัด สามารถโพสต์ขาย online ผ่าน facebook ได้

เริ่มแรก ก็เอาหนังสือที่ซื้อมาไม่กี่ร้อยบาท ขายเล่มละ 100 บาท ประเดิมขายไปซัก 10 เล่ม ปรากฏว่า แทบเป็นลม คนเข้ามาจองซื้อหนังสือบางเล่มที่ลงขายเยอะมา จนหลงรู้สึกไปว่า “เอ๊ะ ขายหนังสือ online นี่ง่ายดีเนอะ อย่างนี้น่าจะมีเงินพอใช้จนผ่าน covid ได้ล่ะนะ”

สักพักก็มีน้องที่รู้จักส่งข้อความมาบอกว่า “พี่รู้ป่าว พี่ขายหนังสือ…..(ชื่อหนังสือ) ผิดราคามากนะ ราคาซื้อขายตอนนี้ 8,000 บาท พี่ขายแค่ 100 บาทเอง (ราคาหน้าปกไม่ถึง 300 บาท) ถ้าพี่มีอีก บอกหนูนะ”

อ้าว สรุป หวังดี หรือ เสียดายที่ซื้อไม่ทันกันแน่ แต่ที่รู้สึกก็คือ เราโง่ไปมาก (แฟนผมปลอบใจว่า “จริงๆก็ไม่ใช่โง่หรอก แค่ไม่รู้”) จากที่ดีใจเลยเป็นเสียใจแทน เพราะรู้สึกเหมือนทำเงินหายไป 7,900 บาทเลยทีเดียว

เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมรู้ซึ้งถึงคำเตือนของ ก.ล.ต. เลย “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” และรู้ซึ้งถึงประโยคที่ผมเคยใช้บรรยายเวลาสอนเรื่องการวางแผนการเงินเสมอว่า

การลงทุนมีความเสี่ยง

การไม่ลงทุนเสี่ยงมากกว่า

การลงทุนโดยไม่มีความรู้เสี่ยงที่สุด

เพราะไม่ได้ศึกษาหาราคาตลาดของหนังสือแต่ละเล่มมาก่อนว่า ควรขายหนังสือแต่ละเล่มที่ราคาเท่าไหร่ คิดง่ายๆว่าน่าจะเหมือนกับการซื้อหนังสือมือสองตามตลาดนัดที่วางขายเป็นกองๆ กองนี้เล่มละ 20 กองนี้เล่มละ 50 กองนี้เล่มละ 100 แบ่งเกรดกันตามราคาหน้าปก แต่ไม่เคยเจอว่ามีเล่มไหนขายแพงกว่าราคาหน้าปกเลย เรียกได้ว่าเกิด Representative bias คือ เชื่อว่าข้อมูลที่เราได้มาจากประสบการณ์ซื้อหนังสือมือสองตามตลาดนัด จะเหมือนกับการซื้อหนังสือผ่านสื่อ online จริงๆแล้ว มันไม่ได้เหมือนกัน 100% และก็ไม่ได้ต่างกัน 100% ถ้าอยากประสบความสำเร็จ ลดความผิดพลาด การหาข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

“ลงทุนในสิ่งที่คุณรู้เท่านั้น”

“การลงทุนโดยที่ไม่ผ่านการวิเคราะห์ ก็เหมือนกับเล่นไพ่โดยไม่ดูไพ่ในมือ”

Peter Lynch

และก็ได้เรียนรู้อีกเรื่องนึง หลักการลงทุนที่ว่า “มูลค่า (value) คือ สิ่งที่ได้มา ราคา (price) คือ สิ่งที่เราจ่าย” เราควรลงทุนเมื่อ ราคาต่ำกว่ามูลค่าเท่านั้น ราคา คือ ความจริงที่เห็นอยู่ต่อหน้า แต่มูลค่า คือ สิ่งที่ต้องประเมิน

เชื่อมั๊ยครับ ผมเองก็เป็นหนอนหนังสือคนนึง อ่านหนังสือมาเยอะมาก โดยเฉพาะหนังสือประเภท how to ปรัชญา การเงิน การลงทุน หนังสือหลายๆเล่มที่ขายกันแพงๆ ก็อ่านผ่านตามาแล้ว บางเล่มยอมรับว่าดี แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นหนังสือที่ดีอะไรเลย หลายเล่มรู้สึกเสียดายเวลาที่อ่านด้วยซ้ำ ก็งงมากว่า ทำไมราคาถึงแพงขนาดนี้

มีอีกเล่มที่ขายผิดราคาไป ราคาตลาดอยู่ที่ 20,000 บาท ขายไป 500 บาท นึกว่าขายได้ราคา (อีกแล้ว) กลับขายหมูไปซะฉิบ อ่านไปก็ไม่ได้รู้สึกว่าดีเลิศขนาดนั้น เคยถามคนที่ซื้อขายหนังสือด้วยกันว่า “ทำไม” เหตุผลก็คือ “เป็นหนังสือหายาก ไม่พิมพ์อีกแล้ว” ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ หนังสือดีๆที่ไม่พิมพ์อีกแล้ว มีเยอะมาก แต่ทำไมราคาไม่แพง ทำไมเจาะจงต้องเป็นเล่มนี้ และคนก็จ้องแย่งกันซื้อ เพื่อขายต่อ และหลายคนก็ยอมจ่ายตังค์แพงๆซื้อ เพราะแค่เป็นหนังสือหายาก

ข้อคิดที่สรุปได้ ก็คือ มูลค่าที่เคยเรียนมา คือ มูลค่าจริงๆที่ได้จากการประเมินของสิ่งที่เราจะลงทุน แต่ในชีวิตจริง มูลค่าอาจจะเป็นความเชื่อ มิน่าคนถึงยอมจ่ายแพงให้กับความเชื่อ อย่างเช่น ในสังคมพระเครื่อง เป็นต้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่เสี่ยงมาก เพราะเมื่อไหร่ที่ความเชื่อลดลง ราคาก็จะลดลงทันที เหมือนกรณีจตุคามรามเทพในอดีตนั่นเอง

อีกกรณีนึงที่พบและน่าสนใจ ก็คือ หนังสือ Buffettology เดิมก็เป็นหนังสือหายากเล่มนึง ราคาซื้อขายก็อยู่แถวๆพันบาท แต่พอมีการตีพิมพ์ใหม่ ราคาหนังสือมือสองก็ตกเหลือแค่ 200- 250 บาททันที (ราคาปก 395 บาท) จริงๆคำว่า “หายาก” มันควรจะต้องไม่สามารถผลิตเพิ่มหรือทำใหม่ได้อีก เรื่องนี้ในตลาดพระเครื่อง ยังมีเหตุผลมากกว่า เพราะโดยทั่วไป พระเครื่องของพระเกจิที่มีชื่อเสียงจะมีราคาแพงขึ้นมากหลังจากที่พระเกจิท่านนั้นละสังขาร แต่หนังสือเป็นสิ่งที่สามารถพิมพ์ซ้ำได้เรื่อยๆ

ดังนั้น หนังสือหายากที่ซื้อขายกันจึงไม่ใช่หนังสือหายากอย่างแท้จริง ไม่เหมือนพวกหนังสือโบราณที่จัดว่าหนังสือหายากจริงๆ ดังนั้นหนังสือที่ว่าหายากกันนั้นหลายเล่มผมมีอยู่ ก็นำออกขายจนหมด ยอมขายต่ำกว่าราคาตลาดนิดหน่อย เพื่อจะได้ปล่อยไปให้หมด ก่อนฟองสบู่จะแตกไม่ว่าจะเกิดจากการตีพิมพ์ใหม่ หรือเพราะเนื้อหาไม่ได้ดีสมราคา เพราะสำหรับผมแล้ว มูลค่าของหนังสือ คือ เนื้อหา ไม่ใช่หายาก ผมจะไม่จ่ายแพงกับหนังสือที่เนื้อหาไม่ดี แต่ดีแค่หายาก เหตุผลอย่างหนึ่ง ก็คือ ซื้อมาเพื่ออ่าน ครับ

อุทาหรณ์ที่ได้ ก็คือ มูลค่าสำหรับบางคนมาจากเหตุผล แต่สำหรับบางคนคือ ความเชื่อ ของชิ้นเดียว มูลค่าที่แต่ละคนให้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่า ตอนนั้นเขาใส่แว่นไหนในการประเมินมูลค่า “ความจริง” หรือ “ความเชื่อ”