KTAM จ่ายเงินปันผล 4 กองทุนหุ้น นักลงทุนเฮ! รับตรุษจีน

HoonSmart.com>> บลจ.กรุงไทย จ่ายเงินปันผล 4 กองทุนหุ้น “TOF, KT-HiDiv, KTLF , KT-CLMVT Class D” นักลงทุนเฮรับตรุษจีน

ชวินดา หาญรัตนกูล

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการลงทุนของบริษัทมีมติจ่ายเงินปันผล 4 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยสร้างโอกาส (TOF) กองทุนเปิดกรุงไทย หุ้นไฮดิวิเดนด์ (KT-HiDiv) กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว (KTLF) และกองทุนเปิดกรุงไทย หุ้น ซีแอลเอ็มวีที ชนิดจ่ายเงินปันผล (KT-CLMVT Class D) โดยกำหนดจ่ายเงินปันพร้อมกันในวันที่ 16 ก.พ.2564 ถือเป็นข่าวดีต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง

การจ่ายปันผลของกองทุนเปิดไทยสร้างโอกาส (TOF) รอบนี้ เป็นครั้งที่ 2 รอบปีบัญชี 1 ม.ค.- 31 ธ.ค.2563 ผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 โดยบริษัทฯ กำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในอัตรา 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งกองทุนดังกล่าวเน้นนักลงทุนสถาบัน มีนโยบายลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เน้นหลักทรัพย์ที่จะเข้าจดทะเบียนใหม่ (IPO) และที่มีแผนจะนำเข้าจดทะเบียน (Pre-IPO) ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอนาคต ที่เหลือจะลงทุนในตราสารแห่งหนี้ โดยสัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน ตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ และในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการจ่ายเงินปันผลไปแล้ว 2 ครั้ง คิดรวมกันเป็นอัตรา 1.50 บาทต่อหน่วย

สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทย หุ้นไฮดิวิเดนด์ (KT-HiDiv) รอบนี้เป็นการจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 1 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี วันที่ 1 ก.ย.2563 – 31 ส.ค.2564 ผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 โดยบริษัทฯ กำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในอัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย กองทุนนี้เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีปัจจัยพื้นฐานผลการดำเนินงานที่ดี มีประวัติการจ่ายเงินปันผลที่ดีสม่ำเสมอ และ/หรือมีศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลในอนาคต โดยมีอัตราส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์เหล่านี้โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว (KTLF) จ่ายเงินปันผลครั้งที่ 1 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 ต.ค.2563 – 30 ก.ย.2564 ผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในอัตรา 0.75 บาทต่อหน่วย ซึ่งกองทุนมีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและหรือตราสารแห่งทุน ซึ่งผลตอบแทนของตราสารดังกล่าวอ้างอิงกับผลตอบแทนของหุ้นหรือหุ้นกลุ่มของบริษัทจดทะเบียน แต่ไม่รวมการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นหุ้น/ดัชนีหุ้นของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม รวมทั้งลงทุนในตราสารแห่งหนี้และ/หรือเงินฝาก ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตลอดจนหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด ทั้งนี้กองทุนจะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Note)

กองทุนเปิดกรุงไทย หุ้น ซีแอลเอ็มวีที ชนิดจ่ายเงินปันผล (KT-CLMVT Class D ) กำหนดจ่ายเงินปันผลครั้งที่ 1 สำหรับรอบปีบัญชี วันที่ 1 ก.พ.2563 – 31 ม.ค.2564 ผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 ในอัตราหน่วยลงทุนละ 0.50 บาทต่อหน่วย กองทุนดังกล่าวจัดตั้งขึ้นในวันที่ 16 มี.ค.2560 มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศ CLMVT ซึ่งประกอบด้วย ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนามและไทย ที่มีการลงทุนหรือรายได้จากประเทศในกลุ่ม CLMV สำหรับผลตอบแทนในอนาคต รวมทั้งตราสารทุนในประเทศอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้อง และหรือที่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

การจัดสรรน้ำหนักการลงทุนในแต่ละประเทศในกลุ่ม CLMVT นั้นจะเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนตามความเหมาะสมกับสภาวะตลาดการลงทุนในขณะนั้น ๆ หรือการคาดการณ์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในอนาคต เปิดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เนื่องจากประเทศ CLMV เป็นกลุ่มประเทศชายขอบ หรือ Frontier Countries กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกอย่างมาก อีกทั้งเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด มีโครงสร้างประชากรในวัยแรงงานสูง และการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของชนชั้นกลางและสังคมเมืองโดยเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม กระแสเงินลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนั่นเอง