แห่เพิ่มเป้า KBANK บล.แลนด์ฯ กดราคา KTB

นักวิเคราะห์คาดแบงก์กรุงเทพและกสิกรไทยดีขึ้น หลายค่ายปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิ KBANK “หยวนต้า” ให้ไกล 250 บาท ส่วนกรุงไทย มองต่าง ส่วนใหญ่ยืนเป้า ยกเว้น บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หั่นเหลือ 19.60 บาท “ทหารไทย” นักวิเคราะห์ไม่เชื่อผู้บริหารขยายสินเชื่อเข้าเป้า 8-10 % ลดประมาณการนานถึง 3 ปี ราคาลงมาลึกเกินไป รอเด้ง ด้านบล.เอเซีย พลัส คงเป้ากลุ่มแบงก์ แม้รายได้ค่าธรรมเนียมหด แต่รายได้อื่นชดเชย ครึ่งหลังดูดี

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทบทวนประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในปี 2561 หลังจากเห็นภาพรวมครึ่งปีนี้ ยกเว้นบล.เอเซีย พลัส ยังคงเป้าปี 2561-2563 โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีมุมมองต่อธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ดีขึ้น บล.ดีบีเอสฯ หยวนต้า แอพเพิล เวลธ์ ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปีนี้ ราคาหุ้น BBL พุ่งแรง 4.50 บาท หรือ 2.28% ปิดที่ 202 บาท ส่วน KBANK บวก 3 บาท หรือ 1.43% ปิดที่ 213 บาท

ด้านหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) ลบ 6 สตางค์ หรือ -2.68% ปิด 2.18 บาท และธนาคารกรุงไทย (KTB) ปิด 18.40 บาท บวก 20 สตางค์ หรือ 1.10%

สำหรับหุ้น TMB ปรับตัวลงต่อเนื่องจากวันศุกร์ที่ผ่านมาทรุดแรงเกือบ 6% ผิดหวังกำไรไตรมาส 2/2561 หลังจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารธนาคาร ส่วนใหญ่ลงมติเป็นเอกฉันท์ ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิ และราคาเป้าหมาย บล.เคทีซีมิโก้กดต่ำสุด เหลือ 2.10 บาท จากการปรับลดประมาณกำไรถึง 3 ปี (2561-2563) ลง 8-17%

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ว่า 4 เหตุผลที่มีมุมมองลบ แนะนำขายเพื่อสะท้อนต่อแนวโน้มกำไร และเงินปันผลปีนี้ไม่เด่น เชิงกลยุทธ์แนะนำให้ลงทุนใน KBANK หรือ KKP เพราะมีผลการดำเนินงานโดดเด่นกว่า TMB

“แม้ว่าทาง TMB จะคงเป้าหมายการดำเนินงานปี 2561 แต่ผลงานครึ่งปีไม่เป็นไปตามเป้าหลายประเด็น จึงปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-2562 ลดลง 6.3% และ 5.5% ตามลำดับ และปรับราคาเป้าหมายลงจาก 2.9บาท เหลือ 2.3 บาท”บล.หยวนต้าระบุ

ปัจจุบัน TMB ยังคงเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อไว้ที่ 8-10% แต่ไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 1.6% ต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก เนื่องจากสินเชื่อ SME ขนาดใหญ่-กลางหดตัวอย่างต่อเนื่อง และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว จึงปรับลดสมมติฐานสินเชื่อปี 2561-2562 ขยายตัวลดลงจาก 7.0% และ 7.5% เป็น 5.0% และ 5.5% ตามลำดับ ทั้งนี้สินเชื่อ SME เป็นกลุ่มที่สร้างอัตราผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น จึงปรับลดสมมติฐานส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ปี 2561-2562 ลง 0.10 และ 0.05% ส่งผลให้ NIM ลดลงเหลือ 3.0% และ 3.1% ตามลำดับ

ส่วนเป้าหมายการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมของ TMB ที่ 15-20% มีความท้าทายอย่างมาก ปรับลดสมมติฐานการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมปี 2561 จาก 9.0% เป็นทรงตัวจากปีก่อน

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 2.67 บาทจากราคาเดิม 3.10 บาท ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้ลง 11% สะท้อนแนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังที่จะอ่อนลง สินเชื่ออาจเติบโตไม่ถึงเป้าหมายที่ 8-10% เพราะสินเชื่อ Small SME ขยายตัวได้น้อยกว่าคาด และมีการชำระคืนหนี้กันมาก ด้าน NIM อาจจะอ่อนลง รายได้ค่าธรรมเนียมอาจจะโตได้น้อยกว่าเป้าหมายโดยเฉพาะค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ

ในส่วนของธนาคารกรุงไทย (KTB) นักวิเคราะห์มีมุมมองที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่คงประมาณการเดิมในปีนี้ มีเพียงบางแห่งปรับลดประมาณการกำไรสุทธิ และราคาเป้าหมายลง หลังจากธนาคารกรุงไทยประกาศกำไรสุทธิ 7,711 ล้านบาท เติบโตถึง 139% ในไตรมาส 2/2561 สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองหนี้ลดลง 51% แต่กำไรจากการดำเนินงานลดลง จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เพราะเพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดี MRR ลง 0.50%

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังคงคำแนะนำ “ถือ” หลังปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 19.60 บาท จากการปรับลดสมมุติฐานอัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น(ROE)ระยะยาว จาก 10% เหลือ 9.5% และอัตราการเติบโตระยะยาว จาก 6% เหลือ 5% ตามความกังวลคุณภาพสินทรัพย์และการตั้งสำรอง ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ยังไม่นิ่ง หนี้ที่ไม่ก่อใเกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ยังคงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเป็น 4.5% จาก 4.2% สิ้นปีก่อน จากกลุ่มลูกค้า SME ในบางอุตสาหกรรม ล่าสุดมี Coverage ratio ระดับ 124% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในระบบธนาคารพาณิชย์

บล.แลนด์ฯ ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรก สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย โตเพียง 1.1% เป็นการเพิ่มขึ้นจากลูกค้าภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ และลูกค้ารายย่อย ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และ SME ยังหดตัวลงเล็กน้อย ปัจจุบัน KTB มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อย 39% สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 35% สินเชื่อรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 8% และสินเชื่อ SME 18%

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 19.30 บาทแม้ว่ากำไรสุทธิมากกว่าที่เราและตลาดคาดไว้ 31% และ 27% ตามลำดับ รวมกำไรครึ่งปีคิดเป็น 53% ของประมาณการทั้งปีของเรา แต่ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปีนี้ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เนื่องจากยังคงมีความกังวลว่าธนาคารน่าจะมีการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพราะ NPL ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

บล.หยวนต้า แนะนำ ซื้อเก็งกำไร ราคาเหมาะสมที่ 19.50 บาท มองระยะกลางยังน่ากังวล

แนวโน้มการดำเนินงานของ KTB ในครึ่งปีหลังมีความไม่แน่นอน 2 ประเด็นคือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะเร่งตัว จากแผนลงทุน IT และค่าใช้จ่ายการตลาด ภายใต้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มโรงสี และลานมันสำปะหลัง ประกอบกับ Coverage ratio ณ ปัจจุบันที่ 124% ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารที่ 140% KTB อาจเร่งตั้งสำรองเพิ่ม Coverage ratio ให้ใกล้เคียงกลุ่ม

บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ”ราคาเป้าหมาย 21 บาท สัดส่วน NPL เพิ่ม แต่เป็นการจัดชั้นเชิงคุณภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ไม่เพิ่ม ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ที่ 28,387 ล้านบาท

ด้านบล.เอเซีย พลัส มองว่าแม้ค่าธรรมเนียมในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจะลดลงตามคาด แต่เห็นรายได้อื่นมาชดเชย ขณะที่ธุรกิจหลักอื่นๆ โดยเฉพาะสินเชื่อและ NIM พร้อมเข้าสู่ช่วงฤดูกาลอย่างแข็งแกร่งในครึ่งปีหลังนี้ หากทิศทางดอกเบี้ยตลาดขาขึ้นตามคาด จึงคงประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารปี 2561-2563 เนื่องจากไม่มีการปรับประมาณการผลดำเนินงานในหุ้นรายธนาคาร

“กำไรสุทธิกลุ่มแบงก์ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจำนวน 1.05 แสนล้านบาท เติบโต 8.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 53% ของคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2561 แต่ประเมินแนวโน้มผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2561 มีโอกาสลดลงผลจากการลดลงของรายได้อื่นซึ่งมีความผันผวนสูงและมองแนวโน้มปี 2562 ยังมีความคาดหวังเป็นบวกต่อ NIM อย่างต่อเนื่องหากทิศทางดอกเบี้ยตลาดขาขึ้นตามคาด โดยมองหุ้นเด่น คือ BBL, TCAP “บล.เอเซีย พลัส ระบุ

****************
ติดตามข่าว หุ้นเด่น ประเด็นร้อน #HoonSmart #หุ้นสมาร์ท ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/HoonSmart
Line : https://line.me/R/ti/p/%40hoonsmart.com