HoonSmart.com>>สภาธุรกิจตลาดทุนไทยสำรวจดัชนีเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าเดือนเม.ย. ยังร้อนแรง นักลงทุนหวังเงินไหลเข้า ไม่ชอบหุ้นกลุ่มเหล็กมากสุด รองลงมาท่องเที่ยว เตือนนักลงทุน GameStop อาจจะส่งผลพฤติกรรมเลียนแบบ อย่าไล่ตาม ควรศึกษาพื้นฐานก่อนลงทุน ก.ล.ต.มีเกณฑ์ดูแล ตลาดทรัพย์ฯศึกษาหุ้นสภาพคล่องต่ำ คาดว่าต้องรอเวลานาน กว่าจะใช้เพื่อให้เวลาปรับพอร์ต
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า เม.ย.2564 อยู่ที่ 132.55 เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยมีข่าวดีเรื่องวัคซีนที่ทยอยออกมา และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน แต่ก็มีปัจจัยลบที่ฉุดความเชื่อมั่น เช่นเศรษฐกิจยูโรโซน และการถดถอยของเศรษฐกิจไทย
สำหรับกลุ่มที่นักลงทุนสนใจลงทุนมากที่สุด คือ กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERGY) รองลงมาคือกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) และกลุ่มพาณิชย์ (COMM) ขณะที่นักลงทุนไม่สนใจ คือ กลุ่มเหล็ก (STEEL) รองลงมาคือกลุ่มการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT)
ในช่วงนี้ตลาดหุ้นจะทรงตัวตามแรงขายของนักลงทุนต่าวชาติ แต่จะเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มองเป้าหมายดัชนีที่ 1,600 จุด
” หุ้นในเดือนม.ค.ตลาด Emerging Market ปรับตัวได้ดีกว่า Developed market แสดงว่านักลงทุนต่างประเทศยังให้ความสนใจตลาดบ้านเราอยู่ แม้ว่าช่วงนี้ขายหุ้นออกแต่จะกลับเข้าในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและฐานที่ต่ำ ในปี 2565 ถ้าทุกอย่างจบลง วัคซีนมีการใช้อย่างทั่ว การเดินทางเริ่มกลับมาได้ จะทำให้ภาพโดยรวมของไทยจะดีขึ้น ” นายไพบูลย์ กล่าว
สำหรับกรณี GameStop ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในหลายประเทศ ขอเตือนนักลงทุนให้ใช้วิจารณญาณให้มาก และไม่แนะนำให้ซื้อหุ้นเพื่อทำตามกระแสดังกล่าว ควรศึกษาปัจจัยพื้นฐานบริษัทก่อนลงทุน หุ้นที่ขึ้นด้วยวิธีการไล่ราคาของนักลงทุน ท้ายที่สุดราคาหุ้นจะเริ่มปรับฐานลงมาเพื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีกฎเกณฑ์ที่ใช้กำกับดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว กรณี GameStop ที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ตลาดทุนประเมินว่าสำหรับประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎเกณฑ์ออกมาดูแลเพิ่มเติม
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการออกกฎเกณฑ์เพื่อใช้กำกับหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ เพื่อทำให้ตลาดหุ้นไทยสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง ซึ่งกว่าจะสามารถบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวได้น่าจะใช้เวลาพอสมควร เพื่อให้นักลงทุนแต่ละกลุ่มได้มีเวลาในการปรับพอร์ตตามเกณฑ์