กสิกรฯ คาดยอดโอนอสังหาฯ ปี 64 หด 3.1-4.7% ลดค่าธรรมเนียมประคองตลาด

HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองต่ออายุมาตรการค่าธรรมเนียมธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย ช่วยประคองตลาดอสังหาฯ กังวลโควิด-19 ระลอกใหม่ หั่นคาดการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปริมณฑลปีนี้เหลือ 1.82-1.85 แสนหน่วย หดตัว 3.1-4.7%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองการต่ออายุมาตรการค่าธรรมเนียมธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจากเดิม 2.0% เป็น 0.01% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ และการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยจากเดิม 1.0% เป็น 0.01% ของมูลค่าจดจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 นั้น จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคได้สูงถึง 8.94 หมื่นบาท เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมปกติ (คิดจากราคาที่อยู่อาศัย 3 ล้านบาท) โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้ปานกลางลงไปที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่ม mass market ที่มีความหนาแน่นของผู้บริโภคสูง

นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระต้นทุนการทำการตลาดของผู้ประกอบกาพัฒนาที่อยู่อาศัย ในการที่จะเร่งระบายที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในตลาดที่ยังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยเหลือขายประเภท คอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่คิดเป็นสัดส่วนเหลือขายรวมกันสูงถึงร้อยละ 57 จากจำนวนหน่วยเหลือขายทั้งหมด และแม้ในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจะเร่งทำตลาดเพื่อระบายที่อยู่อาศัยรอขาย

อย่างไรก็ดี จำนวนที่อยู่อาศัยสะสมรอขายในตลาด ณ สิ้นปี 2563 กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นซึ่งจากผลสำรวจของ บริษัทเอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตท พบว่า ณ สิ้นปี 2563 ที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีจำนวนสูงถึง 226,645 หน่วย

ศูนย์วิจัยิสกรไทย มองว่า สภาพแวดล้อมทางทางธุรกิจที่ยังมีความท้าทายสูง โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับคาดการณ์การยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 2564 ลงเหลือ 1.82-1.85 แสนหน่วย หรือหดตัวร้อยละ 3.1 ถึง 4.7 โดยเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ

“เริ่มต้นปี 2564 ตลาดที่อยู่อาศัยต้องกลับมาเผชิญกับความท้าทายอีกรอบจากการกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด เห็นได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่คาดว่าจะหดตัวกว่าร้อยละ 7.4 หรือมีจำนวน 1.91 แสนหน่วย ขณะที่การลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ลดลงสูงถึงร้อยละ 39 หรือมีจำนวน 7.3 หมื่นหน่วย” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงแม้ว่าการขยายระยะเวลามาตรการดังกล่าวจะเข้ามามีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกต่อตลาดที่อยู่อาศัยในภาวะชะลอตัว แต่ความท้าทายรอบด้านที่ยังคงมีผลต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงอย่างสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจยังคงต้องระมัดระวังการลงทุนในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ยังคงมีความหนาแน่นของหน่วยเหลือขายในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทสูง อาทิ ลำลูกกา รังสิตคลอง 1-7 และบางนา-ตราด เป็นต้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันทางด้านราคากันรุนแรง ประกอบกับกลุ่มลูกค้าในระดับราคาดังกล่าวมีกำลังซื้อที่จำกัดและมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจสูง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการซื้อสินทรัพย์ระยะยาว