‘กสิกรไทย’จัดพอร์ต แนะกลยุทธ์ เอาชนะการลงทุนปี 64

HoonSmart.com>>ในปี 2564 ราคาหุ้นไทยและต่างประเทศ รวมถึงราคาทองคำขึ้นมาสูงมาก นักลงทุนควรจัดพอร์ตและเลือกลงทุนอย่างไร

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์

ธนาคารกสิกรไทย โดย”จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” Private Banking Group Head มองว่าปี 2564 ตลาดการลงทุนจะยังคงสดใส แม้จะมีความท้าทายมากขึ้น เพราะราคาหุ้นหลายกลุ่มเพิ่มขึ้นมาก ทาง Lombard Odier และธนาคารกสิกรไทยยังแนะนำให้ลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง ยึดหลักกระจายความเสี่ยงและการบริหารพอร์ตเชิงรุก โดยมีมุมมองบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและหุ้นกู้เอกชน แต่ก็ต้องระมัดระวังในการเลือกใช้กลยุทธ์

สำหรับพอร์ต K-Alpha ที่แนะนำลูกค้า ยังคงหลักการของพอร์ตหลัก + พอร์ตเสริม โดยให้ความสำคัญและน้ำหนักที่มากขึ้นกับกองทุนในกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะสร้างความเติบโตให้กับมูลค่าพอร์ตการลงทุน โดยแบ่งเป็น 5 ธีมได้แก่

Winner of new economy หรือ ผู้ชนะในเศรษฐกิจใหม่ อย่างเช่นกลุ่มเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ

Health is Wealth หรือการรักษาสุขภาพคือความมั่งคั่งใหม่ ผ่านการลงทุนกลุ่ม Healthcare และนวัตกรรมทางการแพทย์ทั่วโลก

Save the World หรือเทรนด์รักษ์โลก ที่ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด

The Rise of China and Asia หรือ สินทรัพย์ในจีนและภูมิภาคเอเชีย ที่จะเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

Laggard and Cyclical Upturn เช่น หุ้นในภูมิภาคหรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแรงในปีที่แล้ว และราคายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมทั้งกลุ่มที่ผลประกอบการจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ส่วนการลงทุนในกองทุนรวม ควรกระจายความเสี่ยงจากนโยบายลงทุนในหุ้นหลายกลุ่มและหลากหลายบริษัท มีผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญคัดสรร วิเคราะห์ ติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยปรับพอร์ตการลงทุนตามธีมที่สอดคล้อง เพราะการลงทุนในธีมใหม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ

“ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมามาก เช่นหุ้นไทยบางบริษัทขยับขึ้นมา 60-70% แพงเกินไปหรือไม่ ตอบไม่ได้ เพราะความแพงจะต้องพิจารณาจากระดับ P/E ประกอบด้วยเช่น หุ้นจีนราคาขึ้นมามาก แต่ P/E ไม่เพิ่มตาม สบายใจได้ เพราะมีความสามารถในการทำกำไรสูงตาม ส่วนหุ้นราคาถูกมากในช่วงนี้ เช่น ธุรกิจโรงแรม จะต้องถือได้ รอเศรษฐกิจกลับมา ต้องพิจารณาเรื่องกระแสเงินสด และธุรกิจจะฟื้นตามการท่องเที่ยวหรือไม่ ”

นอกจากนี้หลักการลงทุนไม่ควรพิจารณาเรื่องผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับเพียงอย่างเดียว ยังต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงประกอบด้วย โดยในปี 2563  ธนาคารกสิกรไทยให้ผลตอบแทนถึง 11.4% ภายใต้ความเสี่ยง (ค่าความผันผวน) เพียง 7.7% นับว่าความเสี่ยงน้อยมากเมื่อเทียบกับหุ้นโลกภายใต้วิกฤตเดียวกัน แนวโน้มในปี 2564 ยังคงเชื่อมั่นในกลยุทธ์การลงทุน และจะพยายามสร้างผลงานให้พอร์ตการลงทุนของลูกค้าได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ส่วนเรื่องฟองสบู่ในหุ้นสหรัฐ เกิดจากผลสำรวจของนักลงทุน ซึ่งรู้สึกว่าใกล้เคียงที่จะเป็นฟองสบู่ แต่ไม่ได้เกิดจากความเห็นของนักวิเคราะห์ และนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะไม่มีผลต่อนักลงทุนไทยโดยตรง แต่มีการขายกองทุนที่มีหุ้นเทคมากเท่านั้น

ตรีพล ภูมิวสนะ

“ตรีพล ภูมิวสนะ” Managing Director – Private Banking Business Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า Lombard Odier มีความเห็นตรงกับ KBank Private Banking ว่ามีโอกาสลงทุนที่ดีในช่วงจังหวะนี้ ด้วยกลยุทธ์การลงทุนสำคัญที่ยังยึดหลักลงทุนสม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยง โดยแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ผ่านกองทุนรวม และให้ลดการถือเงินสดไว้ในพอร์ต

“หุ้นมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนเป็นบวกในปี 2564  เพราะจะดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจตีกลับมา คาดกระแสสลับไปยังกลุ่มหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจ (Cyclical) จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกแห่งอนาคตจะถูกขับเคลื่อนด้วยเมกะเทรนด์ ที่สำคัญๆ เช่น Technology และ Healthcare ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนแบบก้าวกระโดดได้ในระยะยาว”

นอกจากนี้ Lombard Odier ยังให้ความสำคัญมากกับหุ้นกลุ่ม CLIC (Circular, Lean, Inclusive, Clean) ซึ่งเป็นการเน้นลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน คุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงเน้นลงทุนในบริษัทที่คำนึงถึงการเท่าเทียมกันของสังคม เพื่อสอดรับกับกระแสด้านความยั่งยืน ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสสำคัญของนักลงทุนในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงเช่นเดียวกัน

สำหรับหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะจีน จะสามารถสร้างผลตอบแทนดีต่อเนื่อง เพราะนอกจากควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วแล้ว การกลับมาเปิดเศรษฐกิจของจีนก็สามารถทำได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ มาก รวมถึงประเด็นเรื่องสงครามการค้าที่คาราคาซังก็มีแนวโน้มผ่อนคลายลงจากชัยชนะของนายโจ ไบเดน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งประเทศในเอเชียที่เชื่อมโยงกันทางการค้า และยังจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำอีกนาน

การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แม้ว่าผลตอบแทนจะไม่น่าดึงดูดในภาวะดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดหุ้นที่ดี โดยนักลงทุนอาจเลือกลงทุนในพันธบัตรในหลายประเทศ เช่น จีน และสหรัฐฯ เป็นต้น

หุ้นกู้ก็เป็นทางเลือกลงทุนที่ดี เพื่อเพิ่มผลตอบแทน โดยเฉพาะหุ้นกู้ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการคัดกรองเลือกบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและมีอัตราผิดนัดชำระหนี้ต่ำ

อีกสินทรัพย์ที่ขาดไม่ได้คือทองคำ ที่มักทำหน้าที่กระจายความเสี่ยงให้พอร์ต โดยเฉพาะภาวะตลาดผันผวนและนักลงทุนที่ไม่ต้องการสภาพคล่อง สามารถล็อกระยะเวลาลงทุนได้นาน การลงทุนใน Fixed Maturity Product หรือ FMP (กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลาที่มีการกระจายในหุ้นกู้ต่างประเทศหลายๆ บริษัท) ตราสารหนี้บริษัทเอกชนนอกตลาดหลักทรัพย์ และหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้ง Hedge Fund ในบางกลยุทธ์ ก็จะช่วยลดความผันผวนระยะสั้นและสร้างความมั่งคั่งให้พอร์ตระยะยาวได้ดีเช่นกัน

ศิริพร สุวรรณการ

“ศิริพร สุวรรณการ” Managing Director – Financial Advisory Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย มองภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเป็นบวก มีการฟื้นตัวได้ดี คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะแตะระดับสูงสุดในเดือนม.ค.-ก.พ.นี้  และประชากรทั่วโลกกำลังทยอยได้รับวัคซีน คาดว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงกลางปี 2564 และจะส่งผลให้ธุรกิจต่างๆสามารถกลับมาเปิดได้อย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดในที่สุด

ในส่วนเศรษฐกิจหลักของโลก อย่าง สหรัฐฯ ยุโรป และจีน จะฟื้นตัวได้ดี หนุนจากการค้าโลกที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับมาตรการการคลังของหลายประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในสหรัฐฯ   เช่นเดียวกับนโยบายการเงินในสหรัฐฯ ที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำถึงปี 2566 รวมถึงมีการซื้อสินทรัพย์ในตลาดการเงินต่อเนื่อง ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดยังคงสูง จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและสนับสนุนภาคการบริโภค

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะโตกว่า 5% ในปีนี้ จากที่หดตัวมากกว่า 4% ในปีที่แล้ว แต่ยังมีหลายความเสี่ยงที่ต้องจับตา คือการต่อสู้ระหว่างจำนวนผู้ติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้นกับความรวดเร็วในการแจกจ่ายวัคซีน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน ระดับดอกเบี้ยนโยบายและการสื่อสารของภาครัฐเกี่ยวกับความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยกดดันเงินเฟ้อในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ยังมองว่านโยบายการเงินและการคลังที่ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ถึงปลายปี 2564 ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดการลงทุน