HoonSmart.com>>ธนาคารทยอยประกาศกำไรปี 63 ลดลงจากปีก่อนตามคาด เร่งตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตคาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 4 รับมือเศรษฐกิจขาลง ยกเว้น ธนาคารกสิกรไทย ไตรมาส 4/63 โกยกว่า 13,258 ล้านบาท สำรองแค่ 669 ล้านบาท ลดลงมากถึง 92% สะท้อนคุณภาพทรัพย์สินดีขึ้น บล.เอเซียพลัสคาด 10 ธุรกิจได้ประโยชน์จากการปรับเกณฑ์ฟรีโฟลท แบงก์เด่นสุด
วันที่ 21 ม.ค.2564 หุ้นแบงก์ใหญ่นำตลาด โดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดกระโดด และวิ่งไปไกลถึง 125.50 บาท ปิดที่ 124 บาท เพิ่มขึ้น 8 บาท หรือ 6.90% ด้วยมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 7,991 ล้านบาท และจุดพลุให้หุ้นแบงก์ใหญ่ขยับตาม BBL และ SCB
หุ้นแบงก์เป็นที่สนใจของนักลงทุน หลังจากธนาคารกสิกรไทย เปิดผลงานปี 2563 กำไร 29,487 ล้านบาท ลดลง 23.86% จากปี 2563 สำหรับไตรมาส 4 ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 13,258 ล้านบาท พุ่งขึ้น 98.52% จากไตรมาสที่ 3 ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น/หนี้สูญ
หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่าเพียง 669 ล้านบาท ลดลงถึง 93.81% เทียบกับไตรมาสที่ 3/63 จำนวน 10,815 ล้านบาท และในไตรมาส 4/2562 ตั้งจำนวน 8,825 ล้านบาท
“กำไรไตรมาส 4/2563 เติบโตถึง 50% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และพุ่งขึ้นกว่า 98% จากไตรมาสที่ 3 สาเหตุหลักจากการตั้งสำรองที่ลดลง 92%จากช่วงเดียวกันปีก่อน นักวิเคราะห์มีมุมมองเป็นบวกจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น”
ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) แจ้งผลงานปี 2563 มีกำไรสุทธิ 23,039.79 ล้านบาท ลดลงจำนวน 9,708.72 ล้านบาท คิดเป็น 29.65% จากที่มีกำไรสุทธิ 32,748.51 ล้านบาทในปี 2562
โดยเฉพาะไตรมาส 4/2563 มีกำไรสุทธิ 3,385 ล้านบาท ลดลง 2,730 ล้านบาทหรือ 44.6% จากไตรมาสที่ 3 เพราะกำไรจากการดำเนินงานที่ลดลง 1,603 ล้านบาทหรือ 9.8% เหลือจำนวน 14,778 ล้านบาท เกิดจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
สำหรับปี 2563 กำไรที่ลดลงมาก มาจากขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 36,644 ล้านบาท จากสภาพแวดล้อมในการดําเนินธุรกิจที่มีความไม่แน่นอน ภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบางจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในเดือนธ.ค. 2563
นอกจากนี้ ในปี 2562 ธนาคารยังมีกําไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของบริษัท เงินติดล้อ ทำให้รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 27.7% หรือ 12,502 ล้านบาท แต่หากไม่รวมรายการพิเศษ รายได้ส่วนนี้ลดลง 10.6% จำนวน 3,877 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรองรับประมาณการหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากกการชดเชยกรณีพนักงานเกษียณและเลิกจ้าง
นอกจากนี้บล.เอเซียพลัสมองสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มผ่อนคลาย ดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นรวมถึงแนวคิดการทำดัชนีแบบ Free float Adjusted Market Cap ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มหุ้น 10 หมวด ได้แก่ ธนาคาร, รับเหมาฯ, วัสดุก่อสร้าง และ ICT อาทิ SCC, KBANK, BDMS, PTT เพราะมีฟรีโพลทสูง มีโอกาสได้แรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนจากกองทุน Passive Fund เพิ่มเติม ในทางกลับหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำก็จะถูกลดน้ำหนักการลงทุน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์, สื่อและขนส่ง การเงิน และมีโอกาสถูกกองทุน Passive Fund ลดสัดส่วนเงินลงทุนเช่นกัน