LPN มองอสังหาฯปี 64 หดตัว 3% ถึงโต 10%

HoonSmart.com>>LPN Wisdom มองการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ รุนแรงกว่าครั้งแรก ปรับเป้าตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 64 เป็นติดลบ 3% ถึงเติบโต 10% ขึ้นอยู่กับความสามารถควบคุมสถานการณ์  รัฐไม่ล็อกดาวน์ประเทศ ลดภาษีช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ ส่วนตลาดปี 2563 หดตัวถึง 37% เปิดตัวเพียง 70,000 หน่วย มูลค่า 276,000 ล้านบาท เน้นเปิดตัวบ้านพักอาศัย ชะลอการเปิดตัวคอนโดมิเนียม

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น (LPN Wisdom) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่มีแนวโน้มที่รุนแรงกว่าในรอบแรกส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและส่งผลต่อเนื่องต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงได้ปรับคาดการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 เป็นติดลบ 3% ถึงเติบโตได้ 10% ขึ้นกับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ของรัฐบาล จากเดิมคาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตได้ประมาณ 3-5% และการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2563

แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้แบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ (Scenario) คือ สถานการณ์แรก (Best Case Scenario) รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็วภายในช่วงปลายเดือนก.พ.และวัคซีนสามารถเข้าถึง 50% ของประชากรไทยภายในปี 2564 เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 4-5% จะทำให้มีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ของอสังหาริมทรัพย์เติบโตประมาณ 13-15% และหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะขยายตัวประมาณ 9-10% เพราะได้ระบายหน่วยคงค้างไปได้จำนวนมาก ขณะที่กำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรก โดยประมาณว่าจะมีการระบายอสังหาริมทรัพย์ 6,500 หน่วยต่อเดือน หรือขยายตัวประมาณ 10%

สถานการณ์ที่สอง (Base Case Scenario) รัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเดือนเม.ย. เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 2-3% อสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% และจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่ประมาณ 7-9% และกำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 คาดการณ์ว่าอัตราการระบายอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 6,000-6,300 หน่วยต่อเดือน หรือขยายตัวประมาณ 0-5%

และสถานการณ์ที่สาม (Worst Case Scenario) เป็นกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หรือหลังไตรมาสสอง เศรษฐกิจทรงตัวหรือเติบโตต่ำกว่า 2% การเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์ ติดลบ ประมาณ 15-18% และ จำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะติดลบประมาณ 8-12% คากการระบายอสังหาริมทรัพย์จะลดลง 3-5% เหลือเฉลี่ย 5,700-5,800 หน่วยต่อเดือน

สำหรับปี 2563 ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล มีการเปิดตัวโครงการใหม่ ประมาณ 37% เหลือ 70,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 276,000 ล้านบาทจากปี 2562 เปิดตัว 111,000 หน่วยคิดเป็นมูลค่า 448,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายบริษัท ได้ปรับแผนการเปิดตัวคอนโดมิเนียมเป็นบ้านพักอาศัยมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 63% เพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2562 หรือมีการเปิดตัวบ้านพักอาศัยในปี 2563 ทั้งสิ้น 44,001 หน่วยคิดเป็นมูลค่า 205,578 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 เพียง 4%

ขณะเดียวกันคอนโดมิเนียม เปิดตัวลดลงถึง 60% เหลือ 26,125 หน่วยเทียบกับปี 2562 จำนวน 64,639 หน่วย ผู้ประกอบการหันมาระบายหน่วยคงค้างคอนโดมิเนียม ที่มีจำนวน 94,000 หน่วยในปลายปี 2562 และชะลอการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่

นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า  กำลังซื้อในปี 2563 มีการระบายอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 6,000หน่วยต่อเดือน ลดลง 25% จากปี 2562    ลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับการเปิดตัวโครงการใหม่ เป็นผลมาจากการเร่งระบายสินค้าในสต็อกของผู้ประกอบการโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคา

“การคาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ในปี 2564 ยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสถานการณ์โควิดรอบใหม่ ส่งผลต่อความไม่แน่ใจในรายได้ในอนาคตของผู้บริโภค ทำให้แนวโน้มตลาดในไตรมาสแรกน่าจะทรงตัว  ผู้ประกอบการอสังหาฯ บางราย เริ่มออกมาตรการทางการตลาดเพื่อกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง แต่การที่รัฐบาลไม่ประกาศปิดประเทศ (Lockdown)  ทำให้ภาคธุรกิจยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ และรัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นตลาดอสังหาฯ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% และลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มต่ำ น่าจะเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นกำลังซื้อ เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว