KTB กำไรสนั่น ไตรมาส2โต139%

KTB แจ้งไตรมาส 2 มีกำไร 7,711 ล้านบาท โตจากปีก่อน 139.35%

ธนาคารกรุงไทย (KTB) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 7,711.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,469.61 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 139.35% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 3,222.01 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกปีนี้ธนาคารมีกำไรสุทธิ 14,498.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,738 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23.28% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,759.90 ล้านบาท

KTB ระบุว่า ไตรมาส 2 ธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ 6,769 ล้านบาท ลดลง 7,109 ล้านบาท หรือลดลง 51.22% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีการการตั้งสำรองค่อนข้างสูง สำหรับลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ ธนาคารยังคงรักษาระดับของอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ในไตรมาส 2 ที่เท่ากับ 123.54% ใกล้เคียงกับสิ้นปี 2560 ที่ 121.71%

สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 20,812 ล้านบาท ลดลง 1,042 ล้าบาท หรือลดลง 4.77% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลูกหนี้รายย่อชั้นดี (MRR) ลง 0.5% ในเดือนพ.ค.2560

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ที่ 5,838 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.28% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ รายได้ดังกล่าวชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบบางส่วนจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนข้ามเขต หรือโอนเงินต่างธนาคาร การจ่ายบิลค่าสินค้าและบริการเติมเงินผ่าน “KTB netbank” และค่าธรรมเนียมเกี่ยวเนื่องกับเงินให้สินเชื่อ

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในจากการดำเนินงานอื่นๆ เท่ากับ 12,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 665 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.69% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายโฆษณา

นายผยง ศรีวณิช กรรมการจัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารยังคงรักษาระดับอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ในไตรมาส 2 ไว้ที่ 123.54% ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อนที่ 121.71% เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ระมัดระวัง

สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคาร ณ ไตรมาส 2 อยู่ที่ 17.61% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2560 ที่อยู่ที่17.45% โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารมีการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และครอบคลุมถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ส่วนหนี้ด้อยคุณภาพของธนาคาร ณ ไตรมาส 2 อยู่ที่ 110,563 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.32% จากสิ้นปีก่อน โดยมีอัตราส่วนหนี้ด้อยคุณภาพ (Gross NPLs Ratio) อยู่ที่ 4.52% เพิ่มขึ้นจาก 4.19% เมื่อสิ้นปีก่อน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อมในบางอุตสาหกรรม และธนาคารได้มีการจัดชั้นเชิงคุณภาพ

นายผยง กล่าวว่า แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง การดำเนินงานของธนาคารมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้น ภาคลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ซึ่งธนาคารมีความพยายามที่จะผลักดันให้สินเชื่อขยายตัวตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งจะรักษา Coverage Ratio ไว้ในระดับที่มั่นคง และดูแลลูกค้าสินเชื่ออย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา Fitch Ratings ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของธนาคารขึ้นจาก F3 เป็น F2 ซึ่งสะท้อนถึงอัตราส่วนด้านสภาพคล่องของธนาคารมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ BBB และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA+(tha) อีกทั้งในเดือนมิ.ย.2561 Moody’s Investor Services ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารที่ Baa1 ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มภาพ รวมสถานะทางการเงินที่มีเสถียรภาพ