TISCO กำไร ปี 63 เหลือ 6,063 ลบ. ลด 16.6% รายได้ร่วง-สำรองเพิ่ม

HoonSmart.com>> “ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป” เปิดกำไรปี 63 จำนวน 6,063 ล้านบาท ลดลง 1,207 ล้านบาท กว่า 16.6% จากปีก่อน ผลกระทบโควิด-19 เศรษฐกิจชะลอ สำรองหนี้เพิ่มขึ้น รายได้มิใช่ดอกเบี้ยลดลง ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ด้านหนี้เสียเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.50%

บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.ที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 6,063.48 ล้านบาท กำไรต้อหุ้น 7.57 บาท ลดลงจากปี 2562 มีกำไรสุทธิ 7,270.23 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 9.08 บาท ขณะที่งวดไตรมาส 4/2563 กำไรสุทธิ 1,864.74 ล้านบาท ลดลง 12.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

บริษัทฯ ชี้แจงงวดปี 2563 กำไรสุทธิในส่วนของบริษัทลดลงจำนวน 1,206.75 ล้านบาท หรือ 16.6% จากปีก่อนหน้า ตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ กดดันรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคาร รวมถึงภาระการตั้งค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่สูงขึ้นเพื่อสะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น 2.4% จากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพในภาวะดอกเบี้ยขาลง ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 12.6% โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทั้งธุรกิจนายหน้าประกันภัย และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง

อย่างไรก็ดีรายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น 12.8% ตามปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และการออกกองทุนใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในภาวะที่ตลาดทุนผันผวน

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง สอดคล้องกับรายได้ที่ชะลอตัว ในส่วนของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.42% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน บริษัทยังคงติดตามและดูแลลูกหนี้ทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2.50% ณ สิ้นปี 2563

ปี 2563 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีจำนวน 3,330.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญจำนวน 1,109.10 ล้านบาทในปี 2562และคิดเป็นอัตรา 1.42% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เป็นผลมาจากภาวะความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

สำหรับค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของงวดไตรมาส 4 เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตปรับตัวดีขึ้น แต่จากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ที่กลับมาเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี บริษัทเห็นความจำเป็นในการตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดดังกล่าว